วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คำสอน 6 พ.ค. 2560 (12)


พระอาจารย์
6 พฤษภาคม 2560
(ช่วง 12)


(หมายเหตุ  :  ต่อจาก ช่วง 11

พระอาจารย์ –  นี่จึงเรียกว่าญาณทัสสนะ เรียกว่าปัญญาญาณ ...ไม่ใช่จินตามยปัญญา 

เพราะนั้นจินตามยปัญญามันเข้าใจ มันเชื่อ แต่โดยภาษา ...แต่โดยจิตลึกๆ จริงๆ มันไม่เชื่อ ไม่ยอม...มันไม่ยอม  กูแกล้งเชื่อไปอย่างงั้นแหละ มึงอย่าเผลอแล้วกัน เดี๋ยวกูก็ยึด 

มันจะเป็นอย่างนั้นนะจินตา ...เหมือนตีงูให้สลบ แล้วก็นึกว่ามันตาย  เออ เอามานอนกอดมันเถอะ เผลอขึ้นมา มันตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่มันก็ฉกเอา ...ไว้ใจยังไม่ได้นะ

แต่การที่สมาธิปัญญา ภาวนามยปัญญาหรือญาณทัสสนะ จนถึงวิมุติทัสสนะ จนถึงยถาภูตทัสสนะญาณนี่ มันเป็นปัญญาที่ลบล้าง ทำให้หมดเนื้อหมดตัว หมดสิ้น สูญสิ้นซึ่งความเป็นเราของเรา

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ต้องลอง ต้องทำ นะ ลองทิ้งความคิด ลองไม่ใช้ความคิดดู ...ให้เชื่อสมาธิปัญญา รู้เงียบๆ รู้เฉยๆ แต่รู้ด้วยความใคร่ครวญและพิจารณา

อันนี้ก็พูดยาก มันต้องไปทำ แล้วจะรู้เอง...รู้ยังไงที่ว่ารู้อย่างใคร่ครวญ รู้ยังไงที่เรียกว่าแยบคายโดยไม่ต้องคิดมาก ...มองให้หลายมุมมอง ทุกมุมมอง พลิกไปพลิกมาๆๆ

ตั้งโจทก์ไว้ มันเป็นเราตรงไหน ตั้งโจทก์นี้ไว้...แล้วก็มอง ค้นหาความเป็นเรา  มองแล้วก็ตั้งไว้...มันเป็นเราตรงไหนวะ มองหา มองหาความเป็นเรา ...ตั้งอย่างนี้

ถ้ามองหาความเป็นเรายังไม่ชัด มองหาความเป็นชายหญิง ...เราเชื่อว่าเราเป็นผู้ชายใช่มั้ย  มองหาความเป็นผู้ชายในความรู้สึกนั้น ลองหาดู มันมีเพศมั้ย  มันบอกเพศมั้ย มันมีโดยสัญลักษณ์มั้ยว่าเป็นเพศอะไร 

เอ้า ถ้ามองแล้วยังไม่หนำใจ มองหาชื่อ ...เราว่าเราชื่อนี้ใช่มั้ย กายเราชื่อนี้ใช่มั้ย มองหาซิว่าในความรู้สึกนั้นมีชื่อมั้ย นี่ มองหาค้นคว้าอยู่อย่างนี้ มุมมอง สร้างมุมมองแล้วก็ค้นหา ขุดค้นความเป็นจริงลงไป

จิตมันจะค่อยๆ พิสูจน์ทราบธรรมอย่างนี้...ด้วยปัจจัตตัง ...เพราะมันเห็นอะไรที่มันไม่รู้จะพูดว่ายังไงน่ะ 

มันเคยว่ามี เคยว่าเป็นอย่างนั้น เคยว่าใช่อย่างนั้น...พอดูเข้าจริงๆ มันไม่มี มันไม่ใช่อย่างนั้นน่ะ ...มันจะเชื่ออะไรล่ะ มันจะเชื่อตามที่มันเชื่อ หรือว่ามันจะเชื่อตามที่มันเห็นอยู่กับตามันน่ะ

เพราะนั้นไอ้ตัวศีลสมาธิปัญญา มันเป็นเครื่องมือนำทางให้จิตมาพิสูจน์ธรรมน่ะ

อย่ามากล่าวอ้างโง่ๆ งมๆ งายๆ ถือเราแบบทื่อๆ ยึดเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ...ก็ดูซะบ้างสิ ไม่ดูตาม้าตาเรือน่ะ แล้วก็บอกว่าเป็นเราก็เป็นเราอย่างนี้ เรียกว่าทึกทักเอาเอง งมงาย

ศีลสมาธิปัญญาก็ไปบีบไปคั้น ...มึงอย่าเชื่อ จะออกจากความเชื่อต้องมาดูของจริงสิ ว่ามันว่าเป็นเราใช่มั้ย ดูเลย มันเป็นเราตรงไหน

เอ้า มันว่าเป็นสวยงาม ดูเลย มันสวยงามตรงไหน มันแสดงอย่างสวยงามรึเปล่า มันแสดงอย่างโดยสัญลักษณ์ว่าเป็นชายเป็นหญิงรึเปล่า

ดูแล้วดูอีกๆ ...ก็ไม่เห็นมันแสดงสัญลักษณ์เครื่องหมายบ่งบอก คือความเป็นอัตตาใดอัตตาหนึ่งไม่ปรากฏเลยในนั้น ...มีแต่ความรู้สึกที่รวมกลุ่มจับกลุ่มกันอย่างเงียบๆ ว่างๆ 

มันเป็นอย่างนั้นจริงมั้ย นี่ ดูแล้วดูอีก เห็นแล้วเห็นอีก รู้แล้วรู้อีก แจ้งแล้วแจ้งอีก ...นี่คือความรู้แจ้งในธรรม ว่าในธรรมนี้ไม่มีอะไรเป็นเราของเราเลยจริงๆ เนี่ย แจ้ง

แจ้งครั้งเดียวไม่พอ สองครั้งไม่พอ ซ้ำลงไปอยู่อย่างนั้นน่ะ ...กิเลสมันเหนียวหน้าด้านหน้าทนดีนักนี่...ศีลสมาธิปัญญาก็หน้าด้านหน้าทนรู้เห็นลงไปซ้ำอยู่อย่างนั้นน่ะ

ดูสิมันจะทนทานต่อโง่ซ้ำโง่ซาก โง่ดักโง่ดานไปถึงแค่ไหน สุดท้ายมันจะค่อยๆ ยอมปล่อย ...ปล่อยก็จะรู้เองว่าปล่อย ไม่ใช่ธุระของเราก็จะรู้เองว่าไม่ใช่ธุระของเรา 

มันวางธาตุก็คือรู้ว่าวางธาตุ ...จะรู้เองอีกน่ะ ...ก็ไม่รู้จะบอกยังไง ว่ามันวางยังไง มันวางของมันเอง แล้วก็รู้เองว่ามันวาง  มันยังไม่วาง ก็รู้เองว่ายังไม่วาง เข้าใจมั้ย

ตอนนี้ยังไม่วาง มันก็รู้เอง ใครก็บอกไม่ได้ว่ามันยังไม่วางยังไงวะ ...แต่ตัวเจ้าของน่ะมันโกหกตัวเองไม่ได้ว่ายังยึดอยู่ ยังถือว่าเป็นเราอยู่ ปากจะพูดว่าไม่เป็นเรา แต่ยังยึดอยู่ มันโกหกไม่ได้

บทมันจะวาง...วางก็โกหกไม่ได้ว่ามันวาง ...นี่ ตรงไปตรงมาที่สุดในการปฏิบัติธรรม...ตามนั้นๆ เหตุเท่าไหร่ผลเท่านั้น ตามนั้นจริงๆ ตามอิทัปปัจจยาเลย ไม่มีคำว่าลัดหน้าลัดหลังเลย 

ถ้าลัดหน้าลัดหลังนี่กิเลสนำหมดน่ะ โชคส่ง วาสนาส่ง ราชรถเกยนี่ กิเลสทั้งนั้น


โยม –  ก็บอกว่าดูจิตแล้วไม่มีทางทันแล้วก็จะหลง จำได้รึเปล่าที่บอกหมอเรื่องตารางน่ะ ที่บอกว่าให้ขึ้นมาเชียงใหม่ แล้วหมอบอกว่า “เดี๋ยวดูตารางก่อน จะต้องนั่นต้องนี่ ...คือเวลาจิตมีข้ออ้างหรืออะไรอย่างนี้ ไม่รู้ทัน

พระอาจารย์ –  จิตมันจะเป็นตัวปิดมรรคปิดผล ปิดบังธาตุธรรมอยู่เสมอ ปิดช่องทางที่จะเข้าหาธาตุธรรมตรงนั้นเดี๋ยวนั้นเสมอเลย

มันเป็นอะไรที่มันเกิดมาตั้งอยู่อาศัยได้ ดำรงคงอยู่ในตัวมันได้ เพราะมันคอยปิดบังธรรมอยู่เสมอ ...ถ้าลองที่มันไม่ปิดบังธรรมไว้สิ ตัวมันก็อยู่ไม่ได้


โยม –  ทีนี้ก็เลยเหมือนตัวญาณที่เห็นนี่ก็มี แต่ก็อีกตัวจินตามยปัญญาก็ยังมีน้ำหนักอยู่ตรงนั้น

พระอาจารย์ –  มันยังไม่เห็น ยังไม่เชื่อ ...ก็ค่อยปรับไป เปลี่ยนไป ค่อยๆ ละความเชื่อ ละความเห็นที่ผิดๆ ไปทีละนิดทีละหน่อย ลิดรอนแขนขาลงไปเรื่อยๆ

มันจะไปเอารวดเดียวๆ ไม่ได้หรอก ...ค่อยๆ ลิดรอนไป ทีละนิดๆ โยงใยที่มันเคยเชื่อเคยเห็นว่าอย่างนั้นใช่ อย่างนี้ถูก ตามเราว่า ตามเขาบอกนี่ ค่อยๆ ออกจากความเห็นนั้นทีละนิดทีละน้อย

แล้วเอาธรรมนี้เป็นที่หมายที่ตั้ง ปฏิบัติลงไปแบบโง่ๆ ...อย่าคิดมากๆ ถ้าคิดมากเสียงานหมด 

กลัวจะไม่ได้ไม่ถึง กลัวจะผิดทาง กลัวจะตามคนอื่นไม่ทัน กลัวจะเสียประโยชน์ เสียเวลาเปล่า ...นี่ จิตมันจะกล่าวอ้างซ้ำเหมือนแผ่นเสียงตกร่องอยู่อย่างนี้ แล้วมันก็พยายามดั้นด้นค้นหาทุกวิธีการเลยทีนี้


โยม –  สู่รู้น่ะ สู่รู้

พระอาจารย์ –  ตำรากี่เล่ม เว็บกี่เว็บ มันไปหาหมดน่ะ เพื่อให้มันสะใจเราน่ะ เพื่อให้มันถูกใจเราน่ะ ...เนี่ย เขาเรียกว่า...เข้าใจคำว่าศาสดาหัวแหลมมั้ยล่ะ

ถ้าเราไม่ลงให้ เราไม่เชื่อ เราไม่ทำตาม...มันจะว่าอย่างงั้นน่ะ มันจะว่าแต่อย่างงั้น ...แล้วเมื่อไหร่มันจะเชื่อได้ล่ะ กี่ชาติกี่ภพมันก็อาศัยคำล่อหลอกลวงเดิมๆ อยู่อย่างนี้

มันจึงค้างภพค้างชาติกันมาทุกภพทุกชาติ...ก็อย่างเงี้ย ...กี่ชาติกี่ภพก็เข้าไม่ถึงธรรม กี่ชาติกี่ภพก็ไม่กล้าพิจารณาธรรมอย่างเงียบๆ โง่ๆ เฉยๆ ตรงๆ มัวแต่หาวิธีการนั้นวิธีการนี้

เนี่ย ที่เรียกว่าวิจิกิจฉา...เป็นสังโยชน์ตัวหนึ่งน่ะ  แล้วมันก็มาโอบอุ้มความเป็นเราได้เราเสียอยู่อย่างนั้น ...กลัวใช่มั้ย กลัวเราเสีย  กลัวใช่มั้ย กลัวเราไม่ถึง ...เนี่ย โอบอุ้มมั้ยล่ะ


โยม – (หัวเราะ) ขึ้นหิ้งเลยครับ

พระอาจารย์ –  เออ บูชาเลยล่ะ กลัวเราจะไม่ได้ กลัวเราจะไม่ดี กลัวเราจะไม่เป็น กลัวเราจะตกนรก กลัวเราจะหมกไหม้ กลัวเราจะอย่างนู้นอย่างนี้ มันบ้า

เนี่ย มันทะนุถนอมกิเลส ทะนุถนอมเราหรือเปล่า ก็เพราะโดยวิจิกิจฉาธรรมนี่แหละ ...สังโยชน์สามนี่เป็นธรรมที่มันเอื้อกัน หนุนเนื่องกันอยู่

ตั้งแต่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันเกื้อหนุนกันอยู่ ...ถ้ามีตัวหนึ่ง สองตัวมา ครบ ...พอละตัวหนึ่ง สองตัวลด มันจะเป็นธรรมที่เนื่องกัน เป็นพ่วง เป็นลูกพ่วง

พูดไว้ก่อน เดี๋ยวจะค่อยทำไปแล้วเข้าใจเอง ทำไปเข้าใจไปว่าสิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราบอกนี่ ไม่ใช่คำโกหก ...แต่มันต้องพิสูจน์ทราบด้วยการปฏิบัติเท่านั้น

อย่ามาคาแค่ความคิดแล้วค้นอยู่ในความคิดนั้น ...เอาไปลอง เอาไปปฏิบัติดู แล้วมันจะค่อยๆ ลำดับธรรม เรียบเรียงธรรมได้อย่างตามลำดับลำดาของธรรม

เอ้า พอแล้ว ไป พอเข้าใจนะ ...มันต้องอาศัยการปฏิบัติมากๆ ความช่ำชองในการปฏิบัตินั่นแหละ จึงจะแก้ปรัศนีในหัวจิตหัวใจเราได้


โยม –  มันก็มีตัวที่มันต้องการเงียบ ต้องการนั่นหรืออะไรต่ออะไร เสร็จแล้วก็สู้แรงสู่รู้คิดไม่ได้ ก็ต้องเจออะไรแรงๆ นิดนึง

พระอาจารย์ –  พึ่งพาจิตเรานี่ให้น้อยที่สุดเลย อะไรที่ออกมาจากจิตเรานี่ พึ่งมันให้น้อยที่สุดเลย จนที่เรียกว่าไม่พึ่งมันเลย

แล้วก็ให้จิตนี่อาศัยเป็นแค่ดวงจิตผู้รู้ อยู่ที่ดวงจิตผู้รู้ ...แล้วก็เอาดวงจิตผู้รู้นี่ให้มันแยบคาย หนึ่งแยบคายด้วยสมาธิกับเฉยๆ แยบคายด้วยปัญญาก็คือไตร่ตรองธรรม

อาศัยดวงจิตผู้รู้นี่เป็นเกณฑ์ผู้คิดผู้หานี่ ฆ่ามันทิ้งได้แล้ว


........................................



วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คำสอน 6 พ.ค. 2560 (11)


พระอาจารย์
6 พฤษภาคม 2560
(ช่วง 11)


(หมายเหตุ  :  ต่อจาก ช่วง 10

พระอาจารย์ –  แต่บอกแล้วว่า ตามเหตุปัจจัย นะ


โยม –  ค่ะ


พระอาจารย์ –  พูดไว้ ...ต้องระวัง ถ้าจะทำต้องระวัง ผลที่จะได้กลับคืนมา ...เหล่านี้มันล้วนแต่เป็นความรุงรัง เรียกว่าเป็นเครื่องถ่วง ห่วง ถ่วงรั้ง ให้เสียเวลาในการค้นคว้าความเป็นจริงในตน

มันกลับไปเพื่อ Green Earth น่ะ (โยมหัวเราะ) ...โลกสวย คนรอบข้างดี

โยม –  ไม่มีอะไรทำค่ะ ตอนนี้ก็คือที่มากราบครูบาอาจารย์เพราะว่า โอนลี่วันแล้วค่ะ


พระอาจารย์ –  ทำให้ดี ทำให้ถูก ทำให้ตรง ...ข้างในดี ข้างในถูก ข้างในตรง...ข้างนอกก็จะถูกดีตรง ...ถ้าข้างในไม่ถูกไม่ตรง เป็นคดเป็นงอ...ข้างนอกก็จะงอตั้งแต่กายวาจาเป็นต้นไป

ไม่รู้ล่ะ ตัวเองนั่นแหละจะพิสูจน์ธรรมในตัวเองได้ ...ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอ อย่าให้กิเลสมันนำพา อย่าให้ออกหน้าออกตา

โยม –  ค่ะ


พระอาจารย์ –  อือ ไป

โยม –  กราบลาค่ะ


พระอาจารย์ –  สำนักเรานี่ ยังมีพระเถรเณรชีแค่หนึ่งองค์เอง คือเรา...รับคนเดียวก็คือเรา

โยม –  คาดว่าสำนักโยมก็คงมีโยมคนเดียว หนึ่งเดียวเหมือนกัน


พระอาจารย์ –  เพราะไว้ใจใครไม่ได้ ไว้ใจแต่ตัวเองนี่ รับแต่สานุศิษย์คือเรา

โยม – (หัวเราะ) ตัวเองยังไว้ใจตัวเองไม่ค่อยได้เลยค่ะ


พระอาจารย์ –  (ถามโยมอีกคน) เอ้า พอเข้าใจมั้ยหมอ

โยม –  ครับ


โยม (อีกคน)  หมอเขามีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องปัญญาสู้กันน่ะค่ะ หมายถึงว่าจินตามยปัญญาเขาเยอะ

พระอาจารย์ –  ให้มันเงียบไว้ก่อน ...ปัญญาตัวแท้คือภาวนามยปัญญา เกิดจากการรู้และเห็น เรียกว่าญาณ ...ญาณแปลว่ารู้ ทัสสนะแปลว่าเห็น ตัวรู้ตัวเห็นนั่นแหละ แต่ว่ารู้เห็นอย่างแยบคาย

พอเข้าใจมั้ย แบบที่เราเกริ่นนำ นำพาจิตโยมไปน่ะ ...ตั้งหัวข้อขึ้นมาแค่นี้เอง ปรัศนีขึ้นมา ว่ามันเป็นเราตรงไหน แล้วก็ไล่ดูไป จับขึ้นมา เข้าใจมั้ย

พิศดู ค้นดู ตามหัวข้อที่ตั้งขึ้น ถ้าไม่ชัดในความเป็นเรา มองไม่เห็น ...ก็ความเป็นเพศ ตั้งขึ้นมาเป็นชายหรือหญิง แล้วก็มอง...เออ ไม่เห็น

เข้าใจมั้ย อย่างนี้ต่างหากเรียกว่าภาวนามยปัญญา ...ไม่ใช่โดยความคิดโดยตรงนะ ไม่ใช่จะตั้งหน้าตั้งตาคิดนะ


โยม –  ไม่กล้าทิ้งความคิดน่ะค่ะ แบบว่า ...

พระอาจารย์ –  อย่ากลัวโง่ๆ อย่าคิดว่าเราเป็นปัญญาชน เรามี เราตั้งเนื้อตั้งตัว ตั้งหลักตั้งฐานได้เพราะว่าเราคิดเราจำ แล้วจะมาใช้ความคิด...ปัญญาในทางพระศาสนานี้ไม่ใช่ความคิดถ่ายเดียวนะ

ตัวคิดนี่ มันเกิดขึ้นตอนที่กำลังฟังเรา เข้าใจมั้ย ...ฟัง แล้วกำลังคิดตามธรรม เกิดการพิจารณาธรรมตาม นี่ อยู่ในขั้นของจินตาและสุตตะ เพื่อให้เกิดความตรงต่อธรรม

เพราะนั้นต้องกล้าที่จะละความคิด แล้วก็พิจารณาตรงๆ ใช้ความสังเกต ถี่ถ้วน ละเอียดลออ ...ใจเย็นๆ อย่าเร่งรัด อย่ารีบร้อนๆ ปัญญาเป็นของละเอียด เป็นของประณีต สุกเอาเผากินไม่ได้

ต้องค่อยๆ ...เข้าใจคำว่าละเลียดธรรมมั้ย ละเลียดไป รู้เห็นละเลียดๆ ไป ...ใจเย็นๆ อย่ารุ่มร้อน เอ้า เอาเลย ให้มันแล้วเลิกไปเลย อย่างนี้ มันเห่อเหิมเกินไปๆ

เข้าใจมั้ย การที่ผลไม้จะกินได้ต้องสุกงอมนะ จะไปบ่ม จะไปบีบ จะไปคั้นมัน เอาตรงนั้นเดี๋ยวนั้นไม่ได้
เขาเรียกว่าการประกอบเหตุประกอบธรรม ไม่สมควรกัน การประพฤติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม

มันต้องเป็นไปอย่างกลมกล่อม ศีลพร้อมสมาธิพร้อมศีลพร้อม...สมาธิไม่พร้อมก็ไม่ได้ ศีลพร้อมสมาธิพร้อมปัญญาพร้อมจึงจะได้

ศีลพร้อมสมาธิพร้อม...ปัญญาไม่พร้อมก็ไม่ได้ มันจะต้องเป็นสมังคี สมดุล ตั้งแต่สติสมาธิปัญญา มันเสมอกัน กลมกล่อมกัน

อันนี้มันสอนบอกกันไม่ได้เลย มันเป็นประสบการณ์ในการปฏิบัติ แล้วมันจะอ๋อ ...ไอ้ที่เคยเร่งรัดรีบร้อนเนี่ย เสียของหมดเลย


โยม –  แล้วก็ความเข้าใจเรื่องสมาธิน่ะค่ะ หมายถึงว่าเวลานั่ง ตั้งใจ ก็เลยมีปัญหาเรื่องลมหายใจหรืออะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ รู้เฉยๆ อย่าไปหวังผลเอาผลอะไร ....ให้จิตมันอยู่กับธาตุธรรมนั้นไว้ ไม่ลืมไม่หาย ขณะนั้นน่ะ แข็งแน่นตึง...รู้ว่าแข็ง ตึง  ลมเข้ารู้ ลมออกรู้

ขณะนั้นน่ะจิตตั้งมั่นอยู่กับธรรมแล้ว เป็นขณะหนึ่ง เอาเป็นขณะๆ ไป เอาเป็นปัจจุบันไป ให้มันรู้อยู่เห็นอยู่กับธรรมเป็นปัจจุบันๆ ไป

อย่าลืม อย่าหาย อย่าให้จิตไปหานั่นหานี่ คาดนั่นคาดนี่ นั่นแปลว่าจิตน่ะออกนอกธรรมแล้ว ...ถ้าจิตยังอยู่อย่างนั้นน่ะ จะไม่เป็นสมาธิเลย

จะต้องทิ้งจิตพวกนี้หมด แล้วให้เหลือจิตเดียว...คือจิตรู้เห็นกับธาตุ ...จิตรู้เห็นกับลมก็ได้ถ้าเราถนัดลม

หรือถ้าจะกลัวว่าลมมันเป็นของบางเบา ถ้าละเอียดเดี๋ยวก็ลืมเดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็ขาด เอาลมกอปรกับธาตุดิน เป็นกองก้อน น้ำหนัก ที่กดทับลงมาทั้งตัว รู้สึกได้มั้ย ตอนนี้รู้สึกจับต้องได้มั้ยล่ะ


โยม –  หมายถึงลมหรือว่าดินครับ

พระอาจารย์ –  ทั้งลมทั้งดินคู่กันก็ได้ ...ถ้าเอาลมอย่างเดียว เดี๋ยวมันก็กลืนกิน เดี๋ยวมันไหลหลงหายไปโดยโมหะ

ลมนี่พอกำหนดไปเรื่อยๆ จิตสงบไปเรื่อยๆ นี่ลมจะละเอียด พอลมละเอียดปุ๊บ ลมกับอารมณ์นี่ จะกลายเป็นอย่างเดียวกัน เข้าใจมั้ย แล้วก็วุ๊บๆ ไปไหนแล้วก็ไม่รู้


โยม –  เป็นประจำครับ

พระอาจารย์ –  เนี่ย ถึงบอกว่าเราไม่แนะนำเรื่องให้กำหนดลมเลย เพราะมันจะเข้าไปตีกินกับจิตโดยง่าย เพราะว่าเวลากำหนดไปเรื่อยๆ จิตละเอียด ลมจะละเอียด

พอลมละเอียดปุ๊บ ความเป็นธาตุกับความเป็นนามนี่ มันจะกลายเป็นกลืนกันเลย ...โมหะมันจะถือช่วงโอกาสนั้นเข้ามาสอดประสานระหว่างธาตุกับขันธ์ นั่น นามกับมหาภูตรูปน่ะกลายเป็นเนื้อเดียวกันเลย 

เสร็จแล้วมันก็คาบไปกินเลย คือกายจะหาย ลมจะหายวูบไปเลยแปลว่ากิเลสตีกินแล้ว ...ถึงแม้มันจะสงบ ถึงแม้มันจะสบาย ก็ถูกกิเลสหลอกใช้แล้ว เข้าไปเสพข้องในอารมณ์ 

เพราะนั้นตัวสมาธินี่ต้องเป็นธรรมคู่...กายมี...รู้มี  ธาตุมี...รู้เห็นมี ...อย่างนี้สมาธิ ต้องเป็นคู่น่ะ

จะอยู่ ใจจะรู้โดดๆ ว่าง เห็นโดดๆ ลอยๆ ไม่ได้นะ ...อย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ เป็นฌาน เป็นโมหะสมาธิหมด ...อย่าไปอิ่มเอมเปรมปรีด์กับความหมายความเชื่อว่าฌานนะ ตัวหลงเลยน่ะ โมหะเลยนั่น


โยม –  ก็อย่างน้องเขายังดำเนินในสมาธิธรรมชาติยืนเดินนั่งนอนอะไรอย่างนี้ พอรู้พอแยกอะไรได้บ้าง แต่โดยที่ปัญญาในเรื่องความคิดน่ะค่ะ ที่ว่าสมาธิจะต้องเป็นแบบอย่างนั้น ตอนนี้สองอย่างก็เลยตีกัน แล้วก็จิตยังไม่ค่อยยอมลงกับสมาธิธรรมชาติ

พระอาจารย์ –  สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ใช่มั้ย สมาธิแปลว่าอะไร...จิตตั้งมั่น ระงับความปรุงแต่งใช่มั้ย


โยม –  ครับ

พระอาจารย์ –  เอ้า แล้วปัญญามันจะมาจากความคิดได้ยังไงล่ะ ...ก็ปัญญามันมาจากสมาธิ สมาธิก็คือระงับความปรุงแต่งในจิตน่ะ เข้าใจมั้ย แล้วมันจะบอกว่าปัญญามาจากสมาธิได้ยังไง

ถ้ามาจากสมาธิก็ต้องมาจากจิตไม่ปรุงไม่แต่งสิ เข้าใจมั้ย เพราะนั้นปัญญาที่มาจากสมาธิเรียกว่าภาวนามยปัญญานี่ไม่ใช่ปัญญาที่มาจากความคิดเลย


โยม –  ที่ว่าไม่เข้าใจก็คือ คำว่าเข้าใจของเขาหมายถึงว่าเข้าใจโดยหัวสมอง จะไม่ยอมรับไอ้แบบโง่น่ะค่ะ ที่เห็นวึบเดียวแวบเดียวเงียบๆ นั่นน่ะ

พระอาจารย์ –  ปัจจัตตังๆ ไม่ลองไม่รู้ ...ไม่กล้าลอง ไม่กล้าลิ้มลอง ไม่กล้าทำ ไม่กล้าเผชิญหน้าต่อธรรม ไม่กล้าเผชิญหน้าต่อศีล ...มันก็ไม่รู้เห็นได้ด้วยตัวเอง

อย่าไปตั้งแง่ตั้งงอนกับมัน อย่าไปตั้งมุมตั้งองศาโดยความคิดเรา โดยความเห็นเรา อย่าไปเชื่อในน้ำคำมัน ...ตอนนี้กำลังถูกกิเลสปั่นหัวนะเนี่ย เดี๋ยวมันก็อ้างนั่นอ้างนี่ขึ้นมาประจำน่ะ


โยม –  ไม่กล้าอยู่กับไอ้เงียบๆ น่ะ ไม่ใช่ว่าไม่เคยเห็นไม่เคยแยก แต่

พระอาจารย์ –  กลัวโง่ กลัวไม่รู้อะไร กลัวจะโง่กว่าคนอื่นเขา กลัวตามคนอื่นเขาไม่ทัน ...กิเลสมันจะเล่าอ้างอย่างนี้อยู่เสมอ จนจิตเราต้องออกมาทำงาน ซึ่งมันเป็นทางตรงข้ามกับสมาธิปัญญาเลย 

สมาธิปัญญาคือจิตเราต้องหยุด มาอยู่ที่รู้...เป็นดวงจิตผู้รู้ผู้เห็น ...แล้วอาศัยดวงจิตผู้รู้ผู้เห็นนี่เข้าไปส่องธาตุส่องธรรม ...ส่อง ...เข้าใจคำว่าส่องมั้ย


โยม –  เหมือนซูมเข้าไปใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  อือ เหมือนเอาแว่นขยายน่ะใส่เข้าไป ...จากที่มันมืดๆ มัวๆ ขยายเข้าไป จะได้เห็นเนื้อแท้เนื้อธรรมของมัน ...ตัวนี้ที่เรียกว่าญาณและทัสสนะ


(ต่อช่วง 12)



วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คำสอน 6 พ.ค. 2560 (10)


พระอาจารย์
6 พฤษภาคม 2560
(ช่วง 10)


(หมายเหตุ  :  ต่อจาก ช่วง 9

พระอาจารย์ –  ตอนนี้มันยังมะงุมมะงาหราอยู่ ...เดี๋ยวก็ชัดเดี๋ยวก็หายๆ เดี๋ยวก็ไหลเดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็มาอยู่กับคำพูดเราอีกแล้ว เดี๋ยวก็ไปอยู่ในความคิด วิจารณ์

พิจารณาความคิดอยู่ว่า กำลังเป็นอย่างนั้นใช่รึเปล่า อย่างนี้ใช่รึเปล่า ...นั่น กายหายแล้วๆ ใช่มั้ย จิตมันจะสลับไปสลับมา วกไปวนมา ขึ้นบนลงล่าง 

แต่ตอนนี้ต้องเอาจิตมาฟังก่อน เป็นหลักก่อน เพราะว่ามันยังไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญ...ยังไม่เป็นผู้เชี่ยว คร่ำหวอดในธาตุธรรม ...จึงต้องอาศัยการฟังเพื่อไปย่อยความคิดความเห็นที่มันเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมก่อน

ตอนนี้พวกเรานี่จะแบกความคิดความเห็นที่มันเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมต่อศีลอีกเยอะ ...ที่เรากล่าวธรรมอย่างดุดัน ก็เพราะว่าจะมาลบไอ้ปฏิปักษ์ต่อศีลสมาธิปัญญาในหัวจิตหัวใจพวกเรา

ซึ่งพวกเราไม่มีใครเจตนาหรอก ...มันปลูกฝังมาโดยสันดาน คืออยู่ด้วยความลบหลู่พระธรรมมาโดยตลอดทุกภพทุกชาติ มันไม่เชื่อมั่นในธรรม...แต่มันเชื่อมั่นในกูเอง มันถือตัวมันเองเป็นใหญ่ 

ก็เรียกว่ามันเป็นอะไรที่เอาแต่ใจตัวมันเอง ที่เรียกว่า “มานะ” ...ทุกคนมี ทุกคนเป็น...แสดงออกหรือไม่แสดงออกอีกเรื่องหนึ่ง ...แต่ในหัวจิตหัวใจ ใต้สำนึก เหนือสำนึก...มีหมดเลย

ตอนนี้ที่สอนธรรมดุด่าว่ากล่าวนี่ คือเพื่อไปลบเสี้ยนหนาม คือความคิดความเห็นที่มันเป็นเสี้ยนหนามต่อมรรค เสี้ยนหนามต่อศีลสมาธิก่อน ...พอลบเหลี่ยมลบคมมันได้ ตอนนี้ก็รีบเร่งเข้าไป

เพราะเดี๋ยวมันจะค่อยๆ ฝานเหลี่ยมฝานคม...ว่ามันแน่ ว่ามันเหนือกว่าอีก ...นี่ พวกเรายังอยู่ในขั้นตอนที่ไม่ชนะมันโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรอก ยังเป็นรองต่ำใต้มันอยู่ร่ำไป

เพราะนั้นเวลาตอนนี้ ฟังธรรมนี่ ถือว่าเป็นเวลาที่ครูบาอาจารย์ท่านลูบคมให้ ลบเหลี่ยมให้...จากร้อยพันเหลี่ยมนี่ ก็เหลือประมาณแปดสิบเหลี่ยม (หัวเราะกัน)

ไอ้ประมาณเกลี้ยงเกลา กลมเกลี้ยงนี่ยังไม่ถึงนะ ...อันนี้ต้องไปทำกันเอาเอง

เพราะมันยังมีแง่มุมให้คิดเยอะแยะไปหมดเลยนะ ยังให้ติให้ว่าในคำกล่าวคำสอนของเรา ว่า...เอ๊ อย่างนี้รึเปล่านะ อย่างนั้นรึเปล่า เคยทำมา เคยได้ยินมา เขาว่าอย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้

มันยังมีเถียง ยังมีแย้งอยู่นะ ยังมีย้อนแย้งๆ อยู่...ใช่มั้ย …นั่น เดี๋ยวอย่าโผล่หัวมา เดี๋ยวกูลูบให้ ลูบคมให้ เอาจนมันกลม นี่ พอทื่อแล้ว ตรงนี้...อัตตาหิ อัตโน นาโถ

ต้องเร่งรัดเข้าไปแล้ว เข้าไปพิสูจน์ธรรมด้วยตัวเอง พิสูจน์ศีลด้วยตัวเอง พิสูจน์ว่าอย่างที่เราพูด อย่างที่เราบอก มันน่าจะใช่ มันน่าจะควรแก่การปฏิบัติที่แท้จริงมั้ย

คือการพูดการสอน มันก็กึ่ง ปจว. น่ะ โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้คนฟังนี่น้อมตามเท่านั้นเอง ...เพราะว่าจะยกธรรมมาเปิดให้ดูเหมือนทีวีวงจรปิดอย่างนี้...ก็ไม่เห็นน่ะ มันไม่ได้

มันเป็นธรรมจำเพาะน่ะ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเห็นด้วยตัวตาจิตตาใจของผู้ปฏิบัตินั้นเอง มันจะเอามาแบ่งมาเฉลี่ยให้คนอื่นเห็นทั่วโลกาไม่ได้

มันก็ต้องอาศัยการโอ้โลมปฏิโลมด้วยโวหาร...ที่เรียกว่าโดยการเทศนา หรือว่าการเสวนาธรรม สากัจฉาธรรม หรือว่าธรรมเทศนา ...นี่ก็คือมงคลอันหนึ่ง อยู่ในมงคล ๓๘

พอมาได้ยินได้ฟัง จิตก็เริ่มอ่อนตัวลง ...จากความดื้อด้านทะยานที่ใหญ่ค้ำฟ้าค้ำโลกนี่ มันก็ตัวลีบลงๆ ...เพราะกูใหญ่กว่า อาจารย์ใหญ่กว่า กูจริงกว่า อะไรอย่างนั้น

มันก็อ่อนตัวลงในระดับที่พอกล่อมเกลาได้ ตอนนั้นน่ะเป็นช่วงนาทีทอง น้อมจิตน้อมใจลงไปถึงธาตุถึงธรรม ...จรดไว้ๆ ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมกับจิตเราว่า จิตเราบอก จิตเขาว่า จิตเขาบอก

แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับมัน จรดลงไปโง่ๆ น่ะ...แข็งแน่นตึงๆ แข็งแน่นหนักๆ ไหว กระเพื่อม กระเทือน เป็นก้อนเป็นแท่งเป็นก้าน เป็นน้ำหนักตัวที่กดทับ เป็นอบเป็นอ้าว เป็นร้อนเป็นหนาว

จรดมันอยู่อย่างนั้นๆ ไม่รู้ไม่ชี้ ให้จิตมันเงียบหายไปสักพักหนึ่ง …นี่ ต้องพูดกันเป็นพักๆ นะ พวกเรานี่ ...พิสูจน์ธรรมอย่างนั้น

แล้วก็ทำบ่อยๆ ทดลองเอาตัวเองเข้าไปพิสูจน์ธรรม แล้วดูซิ ผลที่ได้มันจะเป็นอย่างไร

ประเมินเอง ไปประเมินด้วยตัวเอง ความรู้เห็นในธรรมมันโจ่งแจ้งมั้ย มันจะแจ้งขึ้นมั้ย ความชัดเจนในธรรม ว่าธรรมนี้ไม่ใช่เรา ธรรมนี้เป็นธาตุ นี้ไม่ใช่ใครของใคร

มันจะชัดเจนขึ้นในการที่จรดลงตรงนั้นแหละ แบบนั้นทำเอง รู้เอง เข้าใจเอง ...จนมันยืนหยัดด้วยตัวเองได้ เรียกว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ

ก็เรียกว่าบุคคลผู้นั้นน่ะ มีศีลสมาธิปัญญาเป็นสรณะ มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะโดยสมบูรณ์

แต่ถ้ายังไม่ตรงจุดนั้น วาระนั้นน่ะ ยังอยู่ในอาการที่เรียกว่าลูกผีครึ่งคนอยู่ ...ไม่ใช่ลูกครึ่งด้วยนะ แต่ค่อนผีเสี้ยวคน เพราะมันไปอยู่กับความเลื่อนลอยในจิต นั่น

มันไปอยู่กับความเลื่อนลอยในอดีตอนาคต ไปอยู่กับการกระทำคำพูดของคนรอบข้าง เป็นเกณฑ์เลย ...แล้วพอมาอยู่กับตัวเองก็ไปนั่งไล่ดูอารมณ์ ไล่ดูกิเลส ไล่ดูความคิดนี่

ทำไมไม่เฟ้นธรรม ทำไมไม่ค้นหาธรรม ทำไมไม่หยุดอยู่กับธรรม ...เพราะว่า...อย่างที่บอกตอนแรก เพราะมันไม่รู้จักตำแหน่งที่ตั้งของธรรมอันแท้จริง

มันไม่เข้าใจความหมายภาษา...โดยภาษาของธรรมว่าอะไร อยู่ที่ไหน ...มันจึงเกิดการสับสนในธรรม เป็นเหตุให้เกิดการฟุ้งซ่าน อุธัจจะกุกกุจจะ

ทุกเวลา ทุกครั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ ยืนอยู่เฉยๆ  จิตจะเกิดอุธัจจะกุกกุจจะขึ้นมา เพราะว่าความลังเลสงสัยในธรรม ...นี่ จัดอยู่ในหมวดของสังโยชน์ตัวหนึ่ง

เอาแล้ว พอจริงๆ ...ไป ฝึกกัน หัดกันเอง นะ ไปค้นหาธรรมในตัว ไม่ใช่ไปค้นหาธรรมที่ผู้อื่น ของคนอื่น

(ถามโยม) เมื่อยมั้ย มันบอกว่ามันเมื่อย หรือเราว่ามันเมื่อย

โยม –  เข้ากระดูกเลย


พระอาจารย์ –  ถ้าไม่ใช่ขามันบอกว่ามันเมื่อย อย่าไปเชื่อมัน  ถ้าขามันบอกว่ามันเมื่อยนี่ค่อยเชื่อมัน ...ต้องเล่นกับมันอย่างนี้นะ

ถ้าจิตบอกอย่าเพิ่งเชื่อ เอาไว้แบบ...ฮึ พอฟังได้ แต่ว่าอย่าเชื่อ แต่ถ้าเมื่อใดที่ขามันบอกว่ามันเมื่อย ให้เชื่อเลย

แต่เรานี่ตั้งแต่สามสิบกว่าปีที่นั่งดูกายดูเวทนามา กายไม่เคยบอกเลยว่ามันต้องการอะไร ไม่เคยเห็นเลยว่ามันเรียกร้องอะไรมาเป็นคำพูด มาเป็นอากัปกริยาอาการ...นี้คือความจริงที่เราเห็นตลอด

แต่ที่เราเห็นประจำคือจิตเรานี่เรียกร้องไปเอง อย่างผีเจาะปาก...แล้วจะเชื่อใคร ...เราก็ตัดสินใจ กูไม่เชื่อมึง กูเชื่อธรรม...ห้ำหั่นกันอยู่เช้าสายบ่ายค่ำ ไม่มีคำว่าย่อหย่อน หยุดยั้ง

จนกว่ามันจะยอมถอยหนี หมดคำกล่าวอ้าง...มึงไม่ต้องมาไซโคกูอีก กูไม่เชื่อมึงอีกแล้ว ...นั่น สบาย

กายเกิด กายเจ็บ กายแก่ กายดับ กายตาย...เรื่องของธาตุไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่ธุระของเรา เป็นเรื่องของมัน ...จบมั้ยนี่...จบ 

จะต่อกับมันมั้ย...ไม่ต่อ  จะเอาอะไรกับมันอีกมั้ย...ไม่เอาแล้ว เลิกเอาแล้ว ...นี่ แล้วพอเลิกเอามัน เขาก็ไม่เอาเรานะ เออ ต่างคนต่างตรงต่อกันแล้วเป็นอันใช้ได้

ถ้าจิตยังไม่ตรงต่อกาย ยังคิดเห็นไม่ตรงต่อกาย...ยังใช้ไม่ได้ ...จนคิดเห็นตรงต่อกาย...ใช้ได้ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างวาระ ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างดับไป...จบ

ต้องการแค่นี้เอง ไม่มากหรอก ไม่มาก...แค่เนี้ย ...เนี่ย ประมาณแสนอสงไขยกัปนะ (หัวเราะกัน) กว่าจะเห็นแค่เนี้ย ...เพราะนั้นทำไปเหอะ ไอ้ที่ทำมามันก็เยอะแล้วล่ะ แต่ว่าอย่าหยุดทำแค่นั้นเอง

แล้วก็อย่าไปทำที่อื่น...เสียเวลาเปล่า กิเลสจะงอกงาม ศีลสมาธิปัญญาจะฝ่อตัว ...แต่ถ้าทำถูก ศีลสมาธิปัญญางาม...กิเลสจะฝ่อตัว ความยึดมั่นถือมั่นโดยเราจะเจือจางลงเอง

แต่ถ้าทำถูกทำตรงนี่ ไม่ต้องกลัวหรอกว่า “เรา” จะไม่หมดไปสิ้นไป ...ไอ้ที่มันไม่หมดไม่สิ้น เพราะทำไม่ถูกไม่ตรงต่อมรรค ไม่ถูกไม่ตรงต่อศีลสมาธิปัญญา แค่นั้นเอง

อย่ามาอ้างว่าศีลสมาธิปัญญาไม่มีอยู่จริงนะ อย่าไปเชื่อคำพูดของคนที่บอกว่าศีลสมาธิปัญญาเป็นเรื่องล้าสมัย แล้วตัวข้าพเจ้านี่จะตั้งกฎเกณฑ์วิธีการขึ้นมาใหม่

ไอ้เนี่ยหลอกกิน เขาเรียกว่าเหลือบไรพระศาสนา เกินเหลือบเกินไร เป็นเห็บเป็นหมัดด้วย แผ่ขยายไปหมดทุกตารางนิ้วของประเทศไทยเลยมั้ง

(ถามโยมอีกกลุ่ม) มาจากไหน

โยม –  ปทุมค่ะ


พระอาจารย์ –  ไม่เคยมาใช่มั้ย ฟังรู้เรื่องมั้ย

โยม –  ทราบค่ะ

พระอาจารย์ –  รู้แล้วก็เอาไปทำ รู้แล้วก็อย่าเอาไปทิ้ง


โยม –  พอดีโยมกำลังสร้างสถานปฏิบัติธรรมที่บุรีรัมย์ค่ะ ก็เลยมาขอคำแนะนำของครูบาอาจารย์ เพื่อที่จะไปเปิดคอร์สให้ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมในคอร์สค่ะ

พระอาจารย์ –  ทำตัวเองให้มาก คนอื่นเป็นภายนอก เอาให้ตัวเองถึงธาตุถึงธรรมจริงๆ ก่อน ...การบอกสอนคนอื่นนี่ เป็นตัวรองหมด

ถ้ายังแก้กิเลส แก้ความยึดมั่นถือมั่นในเราไม่ได้จริงๆ นี่  เราไม่เคยแนะนำสนับสนุนให้ไปสอนใครเลย ...เพราะเรายังเอากิเลสของตัวเราไม่ลง ยังทำลายความยึดมั่นถือมั่นของตัวเองไม่ได้

ระวังให้ดี การประกอบกระทำเยี่ยงนี้ ต้องระวังให้ดี ระวังให้มาก ...เพราะกิเลสของเรานี่ และกิเลสของเขานี่ จะแทรกซึมเข้ามาทุกระยะเวลาเลย

แล้วเราอดไม่ได้ที่จะไหลหลงไปตามมัน โดยที่เข้าใจว่าเป็นกุศล มันก็จะเอากุศลนี่มาบังหน้า เพื่อประโยชน์คนอื่นมาบังหน้า ...เราถึงบอก ไม่แนะนำให้เล่นกับกิเลสเลย


(ต่อช่วง 11)