วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำสอน 6 พ.ค. 2560 (7)


พระอาจารย์
6 พฤษภาคม 2560
(ช่วง 7)


(หมายเหตุ  :  ต่อจาก ช่วง 6

พระอาจารย์ –  ถ้ามันไม่รู้เห็นธาตุธรรมว่ามันเป็นอย่างนี้ ว่ามันไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่ใครของใคร ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งอยู่เพื่อเอาใจใคร เข้าข้างใคร ด้วยเป้าประสงค์ให้ใครเป็นสุขหรือให้ใครเป็นทุกข์

ถ้าจิตมันไม่เข้าใจธาตุธรรมตามจริงว่ามันเป็นลักษณะนี้ ... จิตจะติดค้างข้องคากับธรรมนี้...ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตายจนเกิดใหม่น่ะ

แล้วมันจะหวนกลับมาหาธาตุธรรมนี้ว่าเป็นของเราๆ อยู่ร่ำไปน่ะ เรียกว่าไม่พ้นจากความเกิดตายกับกายนี้เลย ...ก็หมายความว่าไม่พ้นการเกิดตายมาเป็นสัตว์และบุคคล

แต่ถ้าอดทน ขืน ฝืน เอาจิตมารักษาธรรม เอาจิตมารู้ธรรม เอาจิตมาอยู่กับธรรม เอาจิตมาเรียนรู้ธาตุ เอาจิตมาอยู่กับธาตุ จะเล็กจะน้อยก็ยังพอเห็น

ว่า...เอ้ย มันไม่ใช่อย่างที่จิตว่าจิตบอกนะนี่ ...มันเป็นอะไรแค่ปรากฏ...เป็นอาการหนึ่ง ความรู้สึกหนึ่งที่ตั้งอยู่ กองรวมกันอยู่ ประชุมกันอยู่...เป็นวาระๆ

และในวาระที่มันประชุมกันเป็นความรู้สึกน้อยใหญ่ แต่ละวาระที่มันปรากฏ...หาความเป็นเรา หาความเป็นของเราในนั้น...ไม่มี

มีมั้ย ลองหาดูสิ...มี “เรา” มั้ย ในแข็ง ในแน่น ในหนัก มีมั้ย ...หาดูซิ มองดูซิ สังเกตดูซิ มีเราแฝงอยู่ในนั้นมั้ย มีเราผสมรวมอยู่ในนั้นมั้ย

หรือมันเป็นความปรากฏรวมตัวกันอย่างที่เป็นโดยธาตุล้วนๆ โดยธรรมล้วนๆ ...ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีชาย ไม่มีหญิง...ปนเปื้อนอยู่เลย

ไอ้ที่ว่าเป็นเราปน ไอ้ที่ว่าเป็นของเราปน มันอยู่ข้างนอก ...แต่ในตัวแท้ๆ ที่มันปรากฏ...ไม่มี

นี่ ที่เรียกว่าการพิจารณากายในกาย พิจารณาธาตุในธาตุ พิจารณาธรรมในธรรม พิจารณาเวทนาในเวทนา

เพื่อให้เห็นว่าในนั้นน่ะ มันมีความเป็นเราเขา มันมีความเป็นของเราของเขานี่ ผสมรวมอยู่ในนั้นมั้ย 

หรือว่ามีแต่ความว่างเปล่าจากเราเขา ว่างเปล่าจากอัตตาตัวตนใดหนึ่งที่จิตเล่าอ้าง ...ซึ่งแปลว่าในนั้นน่ะ เต็มไปด้วยอนัตตา...คือความว่างเปล่าจากตัวตนสัตว์บุคคลเราเขา

เห็นมั้ยว่าการน้อมนำจิตให้มันมารู้เห็นอยู่กับกายนี่ ได้เรียนรู้ธรรมตั้งหลายแขนง ได้เห็นความเป็นจริงที่ธาตุธรรมเขาแสดงตั้งหลายลักษณะ

นี่ มันจะเป็นตัวเข้าไปหักล้างความเชื่อว่านี้เป็นเรา นี้เป็นของเราลงไป ...ซึ่งไอ้ความเห็นความเชื่อที่ว่านี้เป็นเรานี้เป็นของเราเนี่ย ที่เรียกว่าสักกายทิฏฐิ

ศีลสมาธิปัญญา จึงเป็นธรรมที่ตรงข้ามกันกับความยึดมั่นถือมั่น ...เพื่อหักลบกลบล้างกับความเชื่อที่เห็นว่า นี่ก็เป็นเรา นี้ก็เป็นของเรา ...นั่งก็เป็นเรานั่ง ใช่มั้ย ยืนก็เป็นเรายืน ใช่มั้ย

เมื่อยก็เป็นเราเมื่อย ใช่มั้ย ปวดก็เป็นเราปวดใช่มั้ย เห็นก็เป็นเราเห็น ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน แก่ก็เป็นเราแก่ เจ็บก็เป็นเราเจ็บ ตายมันก็ยังบอกว่าเราตาย

เห็นมั้ยว่ากิเลสแห่งความยึดมั่นถือมั่น กิเลสแห่งความยึดครองว่านี่เป็นเรานี่เป็นของเรา มันตาม ติดทุกลักษณะอาการของกายเลย อย่างไม่มีคำว่ารั้งและรอ อย่างไม่มีคำว่าเว้นวรรคขาดตอน

แต่ในทางตรงข้ามกับผู้ปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา...อันเป็นธรรมหักล้างความยึดมั่นถือมั่นว่านี้เป็นเรานี้เป็นของเรา ...มันกลับรั้งกลับรอ กลับขาดกลับหาย กลับไม่สม่ำเสมอ กลับไม่ต่อเนื่อง

นี่มันตรงกันข้ามกับกิเลส...ที่มันไม่เคยรั้ง ไม่เคยรอกับความยึดมั่นถือมั่นเลย

จึงเรียกว่าเป็นการประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่เหตุ ไม่สมควรแก่ผล ไม่สมควรแก่ธรรม ...ที่เรียกว่าทำน้อยแต่อยากได้มาก หรือว่าทำไม่ถูกแต่อยากได้ตรง

เพราะนั้นคนมาฟังธรรมเรา ที่เราสอนนี่ เราไม่ได้พูดเรื่องอะไรเลย เราจะพูดแต่เรื่องกายเรื่องศีลนี่แหละ เพราะมันเห็นผิดตั้งแต่หัวขบวนนี่

พอมันเริ่มจรดลงที่ธาตุธรรมผิด มันจะผิดตลอดสาย จนที่สุดจนวันตาย ...ถ้าก้าวแรกผิด ก้าวต่อไปก็พลาด และก้าวต่อๆ ไปก็จะเรียกว่าหลุดโลกไปเลย หลุดธรรมไปเลยน่ะ

แต่ถ้าก้าวแรกถูก ทิศทางถูก หันหา หันหน้าเข้าหาธรรม หันหน้าเข้าหาความเป็นจริงอย่างถูกและตรง...จนจิตเรานี่เถียงไม่ได้ว่านี้ไม่ใช่ธรรม ...มันเถียงไม่ได้

เพราะตัวธรรมตัวธาตุนี่ จริงกว่าความปรุงแต่งร้อยล้านพันล้าน ...จิตปรุงแต่งนี่ ตัวมัน ทั้งเนื้อทั้งตัวมันน่ะมีแต่คำโกหก เรียกว่าพกลมเปรียบเปรยมาพูดมาอ้าง

มันก็สาวอดีตสาวอนาคตน่ะมาอ้าง สาวตำรา สาวคำพูดคนนั้นคนนี้น่ะมาบอก ...แต่มันไม่ได้อ้างถึง อ้างอิงถึงความเป็นจริงใดความเป็นจริงหนึ่งเลย

แต่โดยกายโดยธาตุนี่ เขาไม่ต้องเอาอะไรมาอ้าง เขาปรากฏอย่างจับต้องได้จริงน่ะ ...เนี่ย จริงรึไม่จริงล่ะ ลบล้างได้มั้ยล่ะ เอาจิตเราไปลบล้างได้มั้ย

กำลังแข็ง กำลังเมื่อย กำลังแน่นอยู่นี่...เอาความอยากของเราไปลบมันสิ เอาความไม่อยากของเราไปลบมันเลย เอาอดีตเอาอนาคตที่จิตมันสร้าง ที่บ้าน ที่ช่องที่ห้องที่หอไปลบมันสิ ...ลบได้มั้ย

นี่แสดงให้เห็นอะไรตั้งหลายอย่างที่เขาจริงกว่าจิตเรากล่าวอ้าง เขาไม่ฟังความจิตเราว่าจิตเราบอกเลย ใช่มั้ย ...เขาอยู่ใต้โอวาทเรามั้ย อยู่มั้ย อยู่ในอาณัติเรามั้ย

โยม –  ไม่ครับ


พระอาจารย์ –  แต่มันก็ยังไม่ยอม มันจะคอยที่จะไปบงการกายนี้ให้ได้ ว่าให้มันน้อยลงๆ ...มีจิตใครตรงนี้บ้างที่ไม่บอกให้กายนี้น้อยลง ให้เมื่อยน้อยลง ให้เหน็บชาน้อยลง

จิตมันร่ำๆๆๆ อยู่ตรงนี้ ...แปลว่าอะไร ...นี่ มันยังแสดงความอหังการต่อธาตุธรรม แสดงความพยายามเข้าไปล่วงเกินต่อธาตุธรรมอยู่

ด้วยความสำคัญผิดว่าธรรมนี้อยู่ใต้อาณัติเรา ด้วยความเข้าใจผิด สำคัญผิดว่าเวทนานี้ ธาตุนี้อยู่ใต้อาณัติเรา ...มันจึงพยายามที่จะเข้าไปแก้ เข้าไปเปลี่ยน

นี่ล่ะอาการของจิตเราที่เข้าไปแก้เข้าไปเปลี่ยนเวทนา...ความเป็นไปของธาตุ ความแปรปรวนของธาตุเรียกว่าเวทนา...ด้วยความอหังการไม่รู้จริง

แต่สุดท้าย ท้ายที่สุด มันก็แก้ไม่ได้ ความทุกข์จึงเกิดขึ้นในหัวจิตหัวใจเรา ...เพราะมันไปทำแล้ว คาดแล้ว ประกอบแล้ว สั่งแล้ว บอกแล้ว กระทำแล้ว...แต่มันไม่เป็นไป

จิตจึงเกิดอาการขุ่นมัวและเศร้าหมอง เป็นความไม่ชอบคอพอใจ เป็นความเดือดเนื้อร้อนใจ เป็นปฏิฆะ หงุดหงิดงุ่นง่าน ...เห็นที่มาของอารมณ์มั้ย เห็นเหตุปัจจัยที่นำพาให้เกิดอารมณ์ในเรามั้ย 

มันมาจากไหน มันมาเพราะอะไร และใครเป็นผู้ประกอบกระทำให้มันขึ้นมา ...แล้วเราหยุดการประกอบกระทำให้อารมณ์นี้ขึ้นมารึเปล่า หรือเรากำลังประกอบกระทำให้อารมณ์มากขึ้นเรื่อยๆ 

เนี่ย เห็นมรรค เห็นเหตุ เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธบ้างมั้ย ...มันยังงงว่ะ พูดไปงั้นน่ะ คนฟังยังงงอยู่ ...ไม่เป็นไร พูดไว้ก่อน งงก็งงไป แล้วจะค่อยๆ เข้าใจเอง

ว่าไอ้ที่พูดที่บอกมาตั้งแต่ต้นนี่ ไม่ได้พูดออกนอกมรรคออกนอกผล ไม่ได้พูดออกนอกทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคเลย เพียงแต่ไม่ได้บอกว่ามันอยู่ในหมวดไหนแค่นั้นเอง

เพราะว่าที่สอนให้ฟังนี่ไม่ใช่ภาคปริยัติ ที่พูดที่บอกนี่เป็นภาคปฏิบัติ ...ให้วิธีการปฏิบัติ เพื่อนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่เพื่อเอาไปพูดคุยในหัวข้อธรรม ภาษาธรรม

เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวง การจะเข้าถึงธรรม การจะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม...ต้องอาศัยภาคปฏิบัติ จึงจะเกิดปฏิเวธ

เพราะนั้นปริยัตินี่ มันจะข้ามขั้นตอนปฏิบัติไม่ได้ จะกระโดดข้ามไปปฏิเวธเลยนี่ไม่ได้ มันจะต้องไปตามลำดับคือภาคปฏิบัติ

เพราะนั้นธรรมที่พูดที่สอนตลอดนี่คือภาคปฏิบัติ ไม่ได้สอนให้จดไม่ได้สอนให้จำ ...แต่สอนให้เอาไปทำ...แล้วทำให้ถูก แล้วทำให้ตรง

อย่าให้จิตนี่...ซึ่งมันเป็นผู้บิดเบือนธรรมตลอดเวลานี่ อย่าให้จิตมันมีโอกาสได้บิดเบือน แล้วหันเหไปในทิศทางที่มันคุ้นที่มันเคย ที่มันชอบ

เคยเห็นเข็มทิศมั้ย ...เข็มทิศมันจะหันไปที่ทิศไหน

โยม –  ทิศเหนือ


พระอาจารย์ –  แล้วถ้าเราหมุนตัวตลับไปเป็นตัว S หันขึ้นแทน N ...ยังไงเข็มมันก็จะหมุนไปในทิศทางที่เป็นเหนืออยู่วันยังค่ำใช่มั้ย ต่อให้ตัวหนังสือจะเป็น south ก็ตาม

เข้าใจมั้ยว่า ทิศทางของธรรมน่ะมีทิศเดียว ชื่อภาษาจะว่ายังไงก็ได้ แต่ธรรมก็คือธรรมวันยังค่ำ

เหมือนคนไทยเรียกว่ากาย คนฝรั่งว่า body  คนไทยว่าขา คนฝรั่งเรียกว่า leg ก็คือตัวเดียวกัน...ต่อให้มันแปลชื่อแปลภาษาเป็นอื่นก็ตาม 

แต่ความรู้สึกที่ปรากฏของขา ความรู้สึกที่ปรากฏของแข็งตึงแน่น เป็นก้อนเป็นก้าน เป็นแท่งนี่ เหมือนกันมั้ยๆ ...เหมือน แตกต่างกันแค่ชื่อภาษา

เพราะนั้นการเรียนรู้ธรรมนี่ คือการเรียนรู้ตามความเป็นจริงที่มันปรากฏ ไม่ใช่เรียนรู้ตามภาษานะ ...ที่มันเถียงกันจะเป็นจะตาย ตีกันเละเทะนั่น คือมันเอาตามภาษา

มันไม่เอาตามธรรม ไม่เอาตามที่ศีลมันปรากฏ ไม่เอาตามที่ศีลเขาแสดง ไม่เอาธาตุธรรมที่เขาแสดงจริง ...นี่เป็นตัวที่เรียกว่าเป็นที่สิ้นสุด เป็นที่สรุป เป็นที่จบ

ถ้าไม่เอาตัวนี้เป็นที่สรุปที่จบนี่ เถียงกันตาย...ร้อยพ่อพันแม่การปฏิบัติธรรม เหมือนจับปูใส่กระด้ง 

ทุกวันนี้ยังทะเลาะกันเลย ...ดูกายดีกว่าดูจิต ดูจิตดีกว่าดูกาย หรือดูทั้งกายดูทั้งจิตก็ได้ครบหมดเลย ...นั่น มันจะเอาอะไรกันนักกันหนา จนฟังไปฟังมามันก็ว่า...กูไม่ทำเลย

อือ ดี เพราะว่าต่างคนต่างพูดกันไป ตัวจำเลยก็กลายเป็นได้ประโยชน์ไปเลย ...คือกิเลสมันเลยได้ประโยชน์โฉบไปกิน นี่...ไม่เอาแล้ว มันยุ่งกันนักหนา


(ต่อช่วง 8)



คำสอน 6 พ.ค. 2560 (6)


พระอาจารย์

6 พฤษภาคม 2560

(ช่วง 6)



(หมายเหตุ  : ต่อจาก ช่วง 5



พระอาจารย์ –  กายจะปรากฏด้วยตัวมันเองได้มั้ย...ไม่ได้  เพราะตัวมันไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก 

ตัวความรู้สึกนี่ มันจะปรากฏให้เกิดครรลองปรากฏขึ้นในปัจจุบันให้เกิดการรับรู้ได้ ...จึงต้องมีตัวสตินำพาจิตระลึกขึ้น จึงเกิดอาการรู้เห็นในกาย ณ เวลานี้เดี๋ยวนี้ขึ้นมา

เห็นมั้ย ปัจจยาการต่อเนื่อง นี่ ...เพราะสติมี...ศีลจึงปรากฏ นี่ สติเป็นเหตุ...ศีลเป็นผล

เมื่อสติรักษาศีล ระลึกอยู่ รู้จำเพาะอยู่ที่ศีล ไม่คลาดเคลื่อน ไม่แปรปรวน ไม่ไปที่อื่น ไม่ขึ้นบน ไม่ลงล่าง ไม่ไปซ้าย ไม่ไปขวา ไม่ไปหน้า ไม่ไปหลัง

ตรงจำเพาะลงในความรู้สึกแต่ละกองความรู้สึกที่มันปรากฏอยู่จริง ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน...สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย ไม่เว้นวรรค ไม่ขาดตอน

จิตจึงเกิดความมั่นคง...ในการรู้เห็นต่อศีล ในการรู้เห็นต่อความเป็นจริง ในการรู้เห็นต่อธรรมที่ปรากฏ ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน ...จิตดวงนั้นเรียกว่าจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่ง

จิตดวงที่ตั้งมั่นและเป็นหนึ่ง จิตดวงนั้นเรียกว่าสัมมาสมาธิ ...สติเป็นเหตุ ศีลเป็นผล ...สติ ศีลเป็นเหตุ สมาธิเป็นผล

เมื่อดำรงคงสติ ศีล สมาธิไว้ อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นวรรคขาดตอน จึงเกิดการเรียนรู้ดูเห็น

เรียกว่าด้วยความแยบคายในธรรม ด้วยความโยนิโสมนสิการ ด้วยความสังเกตสังกา ด้วยความถี่ถ้วน ด้วยความละเอียดลออ เนี่ย เรียกว่าด้วยความแยบคาย 

ก็อย่างที่เราไล่ถามเมื่อกี้ ให้ตรวจตราทบทวนในธรรม ทบทวนในธาตุ ทบทวนในความรู้สึกว่า มันเป็นเราของเราอย่างไร เยี่ยงไร หรือมันปรากฏอย่างไม่เป็นเราของเราเยี่ยงไร อย่างไร

เนี่ย เรียกว่าเป็นการตรึกตรองในธรรม  เนี่ย เรียกว่าเป็นการไต่สวนทวนความ  เนี่ย เรียกว่าเป็นการวิจยะธาตุ วิจยธรรม  เนี่ย เรียกว่าเป็นการสำเหนียกในธรรม...ด้วยปัญญา

สติ ศีล สมาธิ เป็นเหตุ...ปัญญาเป็นผล ... ตามลำดับธรรมมั้ย เนี่ย เป็นธรรมที่หนุนเนื่องกันนะ จะข้ามขั้นตอนไม่ได้เลย

เมื่อประกอบเหตุสมควรแก่เหตุ ประกอบธรรมสมควรแก่ธรรม โดยศีลสมาธิปัญญาเป็นพื้น

ความรู้เห็น ความเที่ยงแท้ ความถ่องแท้ในธาตุธรรม...ว่าไม่เป็นเรา ไม่มีเรา ว่าไม่เป็นชาย ว่าไม่เป็นหญิง ว่าไม่เป็นสัตว์ ว่าไม่เป็นบุคคล ว่าไม่เป็นใคร ว่าไม่เป็นของใคร

มันก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้นในหัวจิตหัวใจ...ด้วยความเป็นปัจจัตตัง ...นี่ ไม่ใช่จากความคิด ไม่ใช่จากตำรา ไม่ใช่จากคำกล่าวอ้างของครูบาอาจารย์

แต่มันเกิดจากมันรู้เอง มันเห็นเองกับตามันเอง มันจึงเกิดความเข้าใจในตัวมันเอง มันจึงเกิดความยอมรับในตัวมันเอง ...เนี่ย เรียกว่าปัจจัตตัง

นี่ โอปนยิโก ปัจจัตตังเวทิตตัพโพ วิญญูหีติ...วิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้ด้วยตัวเอง

ตอนนี้ก็กำลังทำ กำลังสอนให้พวกเรานี่เป็นวิญญูชน ...เพราะถ้าไม่เป็นวิญญูชน มันไม่ทำ...มันไม่ทำตามแบบแผนแห่งศีลสมาธิปัญญา  

แต่มันจะทำตามแบบแผนเรา มันจะทำตามแบบแผนเขา ไอ้แบบแผนเรา ไอ้แบบแผนเขานั่นน่ะ ภาษาหลวงปู่สิมเรียกว่า ศาสดาหัวแหลม ศาสดาหัวเหลี่ยม

มันไม่เชื่อพระตถาคต ...ถ้าเชื่อพระตถาคตต้องเอาศีลสมาธิปัญญาเป็นที่ตั้ง เป็นเครื่องนำทาง

อย่าเอาจิตเราเป็นเครื่องนำทาง อย่าเอาจิตเขาเป็นเครื่องบอกทาง ...ไอ้อย่างนี้ศาสดาหัวแหลม หัวลิง...วอก ภาษาเหนือว่า วอก จ้าดวอก เชื่อถือมันไม่ได้

แต่ศีลสมาธิปัญญานี่ อย่างที่บอกอย่างที่อธิบายนี่...ไม่เคยโกหก ไม่เคยหลอกลวงใคร

ตั้งแต่พระพุทธเจ้านั่งอยู่ใต้ร่มไม้โพธิ์ ท่านกำหนดลมหายใจเข้าและออก-ออกและเข้าอยู่ ท่านสู้กับมารน่ะ ตั้งแต่นางอรดี ราคะ ตัณหา มาร่ายรำ...นี่น่ะคืออุปมาอุปไมยธรรม

แล้วก็ตามแห่ตามแหนด้วยกองทัพพญามาร ขี่ช้างม้าวัวควายล้อมกรอบ จนพระแม่ธรณีต้องมาบีบน้ำจากมวยผม...ท่วมท้น เสนามาร กองทัพมาร ลอยตกขอบจักรวาลไป

นี่คือขันติ ขันติเหมือนแผ่นดิน...เป็นบุคคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐาน จนคนสมัยนี้เอาไปตั้งกราบไหว้พระแม่ธรณีอย่างมีตัวมีตนขึ้นมาซะอย่างงั้น

เก่งมากๆ คนไทย นี่คือคนไทย เล่นแร่แปรธาตุ แปลภาษา เก่งจ้าดนัก ก็บอกแล้ว จ้าดวอก เก่งนักเรื่องเล่นแร่แปรธาตุ แปลงสารนี่

เห็นมั้ย วัวออกมาสองหัว รีบแปรธาตุเป็นเลข ...ไม้ตะเคียนโผล่มาจากน้ำเมื่อร้อยปีก่อน รีบไปขูดแปลเป็นเลข มันเล่นแร่แปรธาตุเก่งมาก

แต่ให้มาค้นหาธรรม อยู่กับธรรม...ไม่เอา  อ้างฟ้าดินอินทร์พรหมอยู่นั่นน่ะ ว่ายังไม่ใช่กาลอันควร ...แล้วเมื่อไหร่มันจะควร...ตายไปก่อนรึไง

นั่น ชาติหน้ามันก็ยังไม่ได้ทำ ชาติต่อๆ ไปจากชาติหน้ามันก็ยังไม่ทำ อ้างว่ารอให้พระศรีอาริย์มาตรัสก่อน ...อ้างไปเถอะ หลังอาน เป็นหมาหลังอานกันไม่รู้กี่ชาติยังไม่เจอพระศรีอาริย์เลย

ธรรมมีอยู่ตรงนี้ ธรรมมีอยู่เดี๋ยวนี้...กลับละเลย ...ให้ปฏิบัติตรงนี้ ให้ปฏิบัติเดี๋ยวนี้...กลับรั้งรอ

ต้องไปด่ากับคนโน้นก่อน ต้องไปเกลียดกับคนนี้ก่อน ต้องไปรักกับคนนั้นก่อน หรือไม่ก็ต้องไปทำงานในส่วนนั้นส่วนนี้ก่อน ...ไอ้ภาวนานี่ไว้ทีหลัง

หารู้ไม่ว่า...ความตายนี่คืบคลานเข้ามา ความแก่นี่คืบคลานเข้ามาทุกขณะอย่างไม่เคยรั้งรอใคร

ความเจ็บความตายนี่ ...เป็นหมอนี่ รู้อยู่แล้วนี่ เป็นอาชีพที่หากินกับความเจ็บความตายน่ะ ถ้าไม่มีคนเจ็บตาย อาชีพหมอก็ไม่มี จริงมั้ยล่ะ

ไม่ได้จริงแต่เขา เราก็จริง เราก็ต้องเจอ...ความตายไม่รอ ความแก่ไม่รอ ...แต่ศีลสมาธิปัญญา...รอได้ ...นี่ จิตเรามันว่าอย่างงั้นนะ

กี่รอแล้ว กี่ชาติแล้ว ...แล้วจะกี่รอ กี่ชาติข้างหน้าล่ะ ...เดี๋ยวค่อยทำ เจอทีไรก็เดี๋ยวค่อยทำ ...เดี๋ยวค่อยทำจริงเหรอ ขนาดมันนั่งต่อหน้าเรามันยังไม่ทำเลย

มีใครทำได้โดยตลอดมั่ง ระหว่างที่นั่งฟังเรานี่...ต่อหน้าพระนี่ กิเลสมันยังไม่นับหน้าถือตาเลยนะ ใช่มั้ย ...กูจะไปกูก็จะไป กูไม่ลามึงหรอก มึงเป็นพระก็พระไปดิ กูจะไปอ่ะ

มันเคารพมั้ย มันนับถือเป็นญาติมิตรมั้ย มันเห็นหัวพระธรรมมั้ย มันเห็นหัวพระสงฆ์มั้ย ...กูจะไปอ่ะ พระจะพูดก็พูดไป กูจะไป มีอะไรมั้ย

นี่คือสันดานของกิเลสนะ ไม่นับญาติใครเลย ...ถ้าเปลี่ยนจากเราเป็นพระพุทธเจ้ามานั่ง กูก็จะไปเหมือนกันล่ะวะ ...เอามั้ยล่ะ ลองมั้ยล่ะ กิเลสมันก็ไม่นับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกันล่ะ

ถ้าไม่ฝึก ถ้าไม่หัด ถ้าไม่ดัด ถ้าไม่อบรมมันน่ะ มันไม่ดีขึ้นมาเองหรอก ...ต้องเคี่ยวต้องเข็น ต้องทบต้องทวน ต้องดึงต้องฝืน ต้องกดต้องข่ม ต้องบังคับ

มันจึงเรียกว่าไม่ได้เป็นไปด้วยความสะดวกดาย ง่ายดายหรอก นั่น...พระอริยะถึงน้อยไง ...เพราะมันตั้งใจได้ปล้อบๆ แปล้บๆ ...ไม่ไหว ไม่เอาแล้วอ่ะ

“คงไปไม่รอดแล้วกู อันตัวกูวาสนาคงไม่ถึงท่านแล้วแหละ ใครจะไป อาราธนาไปก่อนเลย ข้าพเจ้าขออยู่กับโลก หากินกับโลกไปก่อน” ...นี่ สมยอมกับกิเลสทุกครั้งไป

ถึงว่าพระอริยะเหมือนเขาวัว ปุถุชนเหมือนขนวัว พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้นนะ ...ความเพียรก็น้อย ความขยันก็น้อย ความตั้งใจจริงมุมานะปฏิบัติ...ก็ต่ำ

แต่ความไหลหลงนี่ To be number one …ถ้าได้ตั้งหน้าปรารถนาอะไร...ต้องให้ได้ ทุ่มเททั้งกำลังแรง กำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังบริวาร

แต่พอให้ทุ่มเทลงที่กายใจ ฮื้อ เหมือนไก่หงอย ...เคยเห็นไก่หงอย ไก่ชนที่แพ้มั้ย มันน่าลงหม้อแกงซะเหลือเกิน เซื่องซึมกระทือ ...แต่พอบอกให้ไปทำนู่น เดี๋ยวจะได้นั่น หูย ตานี่ลุกวาว

กริยาส่อภาษาสันดานเลย....ว่ากิเลสเป็นใหญ่อยู่ในหัวใจ ...ว่าธรรมนี่เป็นรอง เป็นด้อย เป็นต่ำกว่า เป็นเบี้ยรอง เป็นบ่อนรอง เป็น...The Last  

แต่กิเลส อารมณ์ ความมุ่งมาดปรารถนาแห่งเรานี่...The First ขึ้นนำอันดับหนึ่งเลย รุดหน้าเลย เพราะได้ยินยอมพร้อมใจตกล่องปล่องชิ้นมันตลอดเวลานาทีเลย

พอจิตยกอ้างศีลสมาธิปัญญาขึ้นมาให้รู้ตัวๆ ก็ทำไปแบบซังกะตาย รู้เห็นแบบซังกะตาย พอให้พ้นไปเป็นพิธี ผ่านๆ พ้นๆ ไป เดี๋ยวอาจารย์มันจะว่าเอา

เนี่ย ภาษาหลวงปู่ว่า ทำไมไม่ตายเสียตั้งแต่ยังไม่เกิด มันเกิดมาทำไมวะนี่ ...เกิดทั้งทีไม่ใช่ของง่าย เกิดมาเป็นคนใต้ร่มพระศาสนายิ่งยากยิ่งกว่ามนุษย์ทั่วไป เจ็ดแปดพันล้านนี่อีก

ปุพเพกตปุญตา...เกิดในที่อันเป็นมงคล ชาติเป็นมงคล มีโอกาสมากมายก่ายกองกว่าสัตว์โลกนับไม่ถ้วน ทั้งที่จับต้องได้โดยรูปธาตุและโดยโลกธาตุ ทั้งจับต้องไม่ได้รูปธาตุ อรูปธาตุ นับไม่ถ้วน

แล้วยังมีโอกาสมาตกอยู่ภายใต้ร่มเงาห้าพันปีของพระศาสนา ...แต่กลับปฏิบัติธรรมแบบมั่วธรรม หรือละเลยธรรม แต่ตามใจกิเลสซะเหลือหลาย

เพราะนั้นก็เร่งรัดพัฒนาตัวเองขึ้นมา ...ให้เห็นโทษของการปล่อยจิตปล่อยใจ ไหลๆ หลงๆ  เผลอๆ เพลินๆ  ล่องๆ ลอยๆ

มันไม่ได้อรรถ มันไม่ได้ธรรมอะไร มันไม่ได้เป็นมรรค มันไม่ได้เป็นผลอะไร มันไม่ได้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง เห็นแจ้งเห็นจริงในธาตุในธรรม

ว่าธาตุเป็นธาตุไม่ใช่เรา ธรรมเป็นธรรมไม่ใช่ใคร ธาตุเป็นธาตุ ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลในธาตุ ...ธาตุเป็นธาตุ ธรรมเป็นธรรม ไม่มีอัตตาตัวตนใดแฝงอยู่เลย ...มันไม่รู้เห็นอย่างนี้


(ต่อช่วง 7)



วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำสอน 6 พ.ค. 2560 (5)


พระอาจารย์
6 พฤษภาคม 2560
(ช่วง 5)


(หมายเหตุ  :  ต่อจาก ช่วง 4


พระอาจารย์ –  พระอาจารย์ –  ตัวมันบอกมั้ยว่ามันเป็นของไม่ดีของไม่สวย

โยม –  ไม่ได้บอกครับ


พระอาจารย์ –  ตัวมันบอกมั้ยว่ามันคืออะไร มันประกาศมั้ยว่ามันคืออะไร

โยม –  ไม่ได้บอกอะไรเลย


พระอาจารย์ –  แปลว่ามันอยู่อย่างไร้ความหมายในตัวมันใช่มั้ย

โยม –  ครับ


พระอาจารย์ –  ทำไมอ้อมๆ แอ้มๆ ครับ

โยม – (หัวเราะ)


พระอาจารย์ –  เข้าใจมั้ย เข้าใจความจริงของมันมั้ย ...ที่เราพูดที่เราไล่ให้เห็นว่าความเป็นจริงของกายของธาตุนี่เป็นอย่างนี้ ...แต่จิตมันมาตั้งค่าตั้งความหมายต่อกายนี้ผิด...ผิดไปจากที่เขาสำแดงตัวอยู่

ที่เรียกว่าเห็นผิดในกาย ที่เรียกว่าเห็นผิดในกายจนเกิดความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ว่าเป็นเราของเรา...เรียกว่าสักกาย เกิดจากการเห็นผิดในกาย เข้าใจมั้ย

โยม –  ครับ


พระอาจารย์ –  ที่มาบอกว่าเป็นขาเรา เป็นตัวเรานี่ ...ทั้งๆ ที่มันแสดงอย่างเป็นธาตุ อย่างที่เราไล่ให้โยมตามดูไปนั่นน่ะ เขาแสดงอย่างเป็นธาตุหรือเขาแสดงอย่างเป็นของเรา

โยม –  เป็นธาตุครับ


พระอาจารย์ –  เออ แล้วจิตมันเห็นว่าเป็นธาตุในขณะที่เรานำพาแล้วก็น้อมนำจิตตามไปเห็นนี่ ...มันยอมเชื่อมั้ยว่าเป็นธาตุจริงๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์

โยม –  ไม่ยอมครับ


พระอาจารย์ –  ไม่ยอม แล้วมันจะเห็นแค่ครั้งนี้ครั้งเดียวพอมั้ย

โยม –  ก็ไม่


พระอาจารย์ –  ไม่พอ แล้วมันจะละเลิกสักกายทิฏฐิด้วยการเห็นอย่างนี้ครั้งเดียวได้มั้ย

โยม –  ไม่ได้ครับ


พระอาจารย์ –  แล้วจะมีวิธีการอื่นมั้ยที่จะลบล้างความเห็นผิดในกายนี้

โยม –  ก็ไม่มีนอกจากเห็นซ้ำๆ


พระอาจารย์ –  ตรงๆ ใช่มั้ย

โยม –  ครับ


พระอาจารย์ –  มีวิธีการเดียวมั้ย ...จะมีวิธีการอื่นมั้ยที่จะล้มล้างความเห็นว่าเป็นเราของเรากับกายนี้ได้ เข้าใจว่าน่าจะมีมั้ย

โยม –  คิดไม่ออกน่ะครับ


พระอาจารย์ –  ไม่มี ...คิดไม่ออกน่ะแปลว่าไม่มี บอกให้เลย ...ตอนนี้โยมยังไม่เชื่อเท่าไหร่ เพราะโยมยังทำน้อย ยังพิจารณาน้อย ...ทำไปเรื่อยๆ ทำไปมากๆ ทำไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย

แล้วโยมจะเชื่อเองขึ้นมาเป็นปัจจัตตังว่าไม่มีวิธีอื่นเลย ที่จะลบล้างความยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้เป็นเราของเราได้ ...มีวิธีการเดียวโดยศีลสมาธิปัญญาอย่างนี้

ศีลคือตัวกายนี่ ตัวจิตที่กำลังจรดอยู่กับความรู้สึกที่มันกำลังปรากฏของกาย ณ ห้วงเวลาปัจจุบันนี่...ตัวนี้เรียกว่าศีล ...ตัวที่จรดไว้ไม่ยอมห่าง ไม่ยอมหาย ไม่ยอมหนี ตัวนี้เรียกว่าตั้งมั่น...สมาธิ

ตัวที่ไล่เลียงธรรมไปมา ซักไซ้ไล่เลียงไถ่ถามไปมาว่ามันเป็นเรา ไม่เป็นเรา มันเป็นชาย มันเป็นหญิง มันเป็นใคร มันไม่เป็นใคร...เนี่ย ตัวนี้เรียกปัญญา

เพราะนั้นขณะที่โยมทำตามที่เราบอกไปเมื่อกี้นี่ ครบถ้วนตั้งแต่ศีลสมาธิปัญญาแล้ว ...ขณะนั้นนี่ ขณะนี้นี่ จิตโยมอยู่ในมรรค กำลังเดินอยู่บนมรรค

แล้วผลมันคืออะไร ...อย่างที่ได้ตอบมาว่า ก็ไม่เห็นว่ามันเป็นเราเลยจริงๆ นี่คือผล...เป็นปัจจุบัน ...เป็นมั้ย

โยม –  ครับ


พระอาจารย์ –  ต้องรอชาติหน้ามั้ย

โยม –  ไม่ต้องครับ


พระอาจารย์ –  เออ ศีลก็ในปัจจุบัน สติก็ในปัจจุบัน สมาธิก็ในปัจจุบัน ปัญญาก็ในปัจจุบัน ผลก็เกิดในปัจจุบันนั่นแหละ ...แต่ผลนี้ยังเรียกว่าแต่เพียงเล็กน้อย เขาเรียกว่าอะไร ไม่พอกิน ไม่พออยู่

ไม่พอไปลบล้างความเชื่อความเห็นที่จิตกูนี่ ผูกพันมั่นหมายกับกายนี้ นับภพนับชาติไม่ถ้วน ...คือกูเกิดมากี่ครั้งก็ว่าเป็นกายกู...จบ  แล้วก็อยู่กับกายเราจนแตกตายไป ไม่ได้ทำอะไรเลย

ไอ้ที่ไม่ทำอะไรเลย เพราะหนึ่ง...ไปตกยุคพระศาสนา ไม่เกิดมาทันพระศาสนา หรือเกิดมาทันพระศาสนาก็เป็นวัวเป็นควายให้เขาผูกให้เขาไถ ก็ไม่ได้ฟังธรรม หรือฟังธรรมแต่ “มอๆ ฮ้งๆ” กูไม่รู้เรื่อง

หรือเกิดทันพระศาสนาก็ไปตีหัวหมาด่าแม่เจ๊กไปวันๆ หาอยู่หากินไปวันๆ ไม่ใส่ใจ ไม่ฟังธรรม จนมาเริ่มฟังธรรมเอากึ่งกลางพุทธกาล จะหมดสมัยแล้วนี่ ใกล้หมดเวลาแล้วนี่

(เรียกพวกลูกศิษย์ที่มารอด้านล่าง) ...โยม ขึ้นมาฟัง ขึ้นมาเลย ฟังทีเดียวจบ

การฟังธรรมนี่ ก็เพื่อให้คนฟังนี่นำพาจิตน่ะให้เข้าถึงธรรม ...การสอนธรรม การบอกธรรม การกล่าวธรรม ไม่ให้เข้าหากิเลส ไม่ให้เข้าหาอารมณ์

แต่เป้าประสงค์ของผู้เทศน์ผู้สอนก็เพื่อให้คนฟังนี่ น้อมนำจิต...แม้แต่กระทั่งที่กำลังฟัง กำลังนั่งอยู่นี่ ให้จิตนี่เข้าหาธรรม อยู่กับธรรม ไม่เข้าไปหาอะไรที่มันนอกเหนือจากธรรม

อะไรที่มันนอกเหนือจากธรรมเล่า ...ก็อะไรที่ออกนอกไปจากกายนี้ที่ปรากฏ นอกเวทนาในกายนี้ที่กำลังสำแดง อันนั้นน่ะเรียกว่าออกนอกธรรมหมด

ซึ่งมันจะเป็นช่องทางที่จิตไหลหลงเป็นประจำ เป็นอาจิณ เป็นโดยสัญชาตญาณของสัตว์ ...และพวกเรามักจะละเลย เคยคุ้นที่จะยินยอมพร้อมใจไปกับมัน...อย่างไม่ระงับยับยั้งเลย

ไม่ฝืน ไม่ขืน ไม่ทวน ไม่โอปนยิโก ไม่น้อมกลับ ไม่รักษาจิตให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่รักษาจิตให้อยู่ในธาตุธรรมปัจจุบัน ...มักจะปล่อยเลยตามเลยไปกับกิเลส

ที่มันปรุง ที่มันค้น ที่มันหา ที่มันคิด ที่มันสร้างอดีต สร้างอนาคต ที่มันสร้างอารมณ์ ...โดยเฉพาะอารมณ์นี่ พอมันสร้างเป็นอารมณ์นี่ เหมือนบ่อโคลนบ่อหมักเลย

มันจะไปจมแช่อยู่ในนั้นเลย ดื่มกิน อาบกิน สรงสนานอยู่ในนั้น ดำผุดดำว่ายอยู่ในนั้นเลย  จนกว่าไอ้บ่ออารมณ์นั้นจะเหือดแห้งหายไป แล้วมันก็จะไปขวนขวายสร้างอารมณ์ใหม่ขึ้นมา

อันนี้คือการประกอบกระทำเป็นอาจิณ เป็นอนุสัย เป็นโดยกมลสันดานของจิตมนุษย์ จิตสัตว์ ...มันจึงวกวนผกผันขึ้นลงตามอารมณ์ ไหลหลงตามอารมณ์

ค้นหาไปในอดีต ค้นหาไปในปัจจุบัน และอนาคต อย่างที่เรียกว่าไม่มีที่ยุติตรงไหนได้เลย เพราะว่าจิตนี่ไม่มีประมาณ ภพชาติไม่มีประมาณ

ท่านใช้คำว่าอเนกภพ อเนกชาติ อนันตภพ อนันตชาติ ไม่มีประมาณ ...ถ้าติดตามดู เฝ้าดูจิต เฝ้าดูอารมณ์ ก็จะดูอย่างไม่มีประมาณ กับการสรรแต่งปั้นแต่งของกิเลส

แต่ว่าตัวธาตุ ตัวกายปัจจุบันนี่ เป็นอะไรที่จำเพาะตัว เดิมๆ ...ไม่ว่าโยมนี่จะเกิดชาติไหนที่มีกายขึ้นมา ถ้าสัมผัสลงที่นั่งแล้วว่าแข็งกับพื้นที่แข็ง ความรู้สึกก็ยังรู้สึกแข็งเฉกเช่นกันทุกชาติไป

นี่มันเป็นอาการเดิม เป็นอารมณ์เดิม ไม่หลอกลวง ไม่โกหกพกลม ไม่ปลิ้นปล้อน ไม่เล่ห์เหลี่ยม ...ยังไงก็ยังงั้น ตรงไปตรงมา

เรียกว่าลักษณะของธาตุ ลักษณะของกาย ลักษณะของธรรมนี่ เป็นอะไรที่เที่ยงตรงในตัวมันเอง ไม่บิดพลิ้ว ...จึงใช้คำว่าสัจธรรม 

สัจจะแปลว่าโดยความจริง...มันจริงทั้งตัวมันเอง จริงทั้งผู้รับรู้ ...แม้แต่จะให้พระพุทธเจ้ามานั่งลงตรงนี้ กับพื้นเช่นนี้ ท่านก็ต้องมีความรู้สึกเฉกเช่นกับทุกคนว่าแข็ง

เข้าใจว่าเสมอกันในศีลมั้ย ...ไม่มีสูงไม่มีต่ำกว่า ไม่มีดีไม่มีเลิศกว่า ไม่มีมากไม่มีน้อยกว่า ...แบบเดียวกัน เช่นเดียวกัน

ทีนี้ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม ศาสนิกชนทั้งหลายเข้าใจในความหมายเดียวกัน กับความหมายที่แท้จริงของศีลแล้ว ถามว่ามันจะผิดเถียงกันในเรื่องศีลมั้ย มันจะมาแบ่งสายสำนัก แบ่งการปฏิบัติมั้ย

ถ้าเอาศีลน่ะเป็นประธาน เป็นใหญ่ เป็นบันไดขั้นแรกของมรรคน่ะ ที่เรียกว่าสติ ศีล สมาธิ ปัญญา คือลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติ

ท่านไม่ได้บอกว่าสมาธิปัญญาศีล ท่านไม่ได้บอกว่าปัญญาสมาธิศีล ท่านไม่ได้บอกว่าสมาธิศีลปัญญา ...ท่านมีแต่บอกว่าศีลสมาธิปัญญา

ไม่ใช่คำคล้องจอง คำพ้องอะไร แต่มันเป็นตามลำดับ ...เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด  เพราะสิ่งนี้เกิดต่อสิ่งนี้จึงเกิดตาม ...มันเป็นอิทัปปัจยา เป็นโดยเหตุและโดยปัจจัยหนุนเนื่อง

มันจะข้ามขั้นตอนไม่ได้ ...ใครจะมาบอกว่าปัญญาอบรมศีล มันเป็นคำพูดที่ยังไม่เข้าใจโดยถ่องแท้ดี ...แต่โดยลำดับธรรมจะต้องเป็นอย่างนี้


(ต่อช่วง 6)