วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำสอน 6 พ.ค. 2560 (1)



พระอาจารย์
6 พฤษภาคม 2560
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  คำสอนนี้ 3 ชั่วโมง ถอดความแล้วยาวมากค่ะ จึงจะแบ่งการโพสต์ลงเป็นบทคำสอนประมาณ 11 บทความให้อ่านต่อเนื่องกันไปนะคะ)

พระอาจารย์ –  ไม่มีอะไรที่จะไปหักโค่นวงจรวัฎจักรนี้ได้เลย 

เว้นไว้เสียแต่ว่า จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยการภาวนาประกอบกันไป...สะสม กำลังความรู้ความเห็น สติปัญญา จึงจะพอเข้าไปหักโค่นวงจรวัฎจักรแห่งการเกิดตาย

ซึ่งวงจรของการเกิดตายนี่ เป็นวงจรของทุกข์ ...เพราะว่าขึ้นชื่อว่าการเกิด มันต้องมีกาย มีธาตุ แล้วก็มีขันธ์ ...เมื่อมีธาตุ ก็ต้องมีทุกข์ในธาตุ เมื่อมีขันธ์ก็ต้องมีทุกข์ในขันธ์

ขึ้นชื่อว่าเกิดแล้วนี่ ต้องมีแต่ทุกข์...โดยเฉพาะทุกข์ในธาตุ แก่เจ็บตายนี่ มันเป็นของที่ตายตัวของสัตว์ มันเป็นอะไรที่ไม่สามารถหลุดพ้นได้เลย ถ้าขึ้นชื่อว่าเกิดแล้วนี่

เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ เจ็บก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ ...มันไม่มีใครหนีพ้นหรอก ต้องเผชิญกับทุกข์ในธาตุ วันยังค่ำคืนยังรุ่งเลย ไม่ว่าจะเกิดมาในชาติไหนภพใด เวลาใด สมัยไหน

ขึ้นชื่อว่าเกิด ขึ้นชื่อว่ามีกาย ขึ้นชื่อว่าเป็นธาตุ รวมธาตุขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีทุกข์ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรกับมันเลย เราก็จะอยู่กับกองทุกข์ ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ อย่างนี้

เพราะนั้นไอ้ตัวทุกข์ของกายนี่ เขาเรียกว่าเป็นทุกข์ภายใน แล้วมันยังมีการกระทบสัมผัสโดยอายตนะกับโลกภายนอก มันก็จะเกิดทุกข์ภายนอกกับวัตถุกับบุคคล ...มันทุกข์สองอย่างในกับนอก

แต่คนเราก็ละเลยการภาวนา หรือภาวนาพอเป็นพิธีการพิธีกรรม หรือภาวนาแบบข้างๆ คูๆ ไม่ดูตาม้าตาเรือ เดินไปเดินมาโดนรุกฆาต กิเลสน่ะมันรุกฆาตหมด

เดินไม่ดูตาม้าตาเรือ สุ่มสี่สุ่มห้าหลับหูหลับตาเดิน สุ่มสี่สุ่มห้าหลับหูหลับตาปฏิบัติ กิเลสมาถึงปุ๊บ ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมหรอก รุกฆาตทีเดียวตายทั้งโคตรเลย มันตีกินหมด

ถึงบอกว่าภาวนา ศีลสมาธิปัญญานี่ เป็นยาขนานเอก ซึ่งมาแก้โรคกิเลสที่อยู่ในหัวจิตหัวใจ ...มันเป็นยาขนานเอก ยาที่ชะงัก แล้วมันเป็นคู่ปรับคู่ต่อสู้กับกิเลสในหัวจิตหัวใจ

ถ้านอกจากศีลสมาธิปัญญาแล้ว ไม่มีอะไรสู้กิเลสได้ ...จะอ้างออกมาตามที่รักตามที่ชอบขนาดไหนก็ตาม เอามาแก้กิเลสไม่ได้ เอามาลบล้างฆ่าฟันหักล้างกิเลสไม่ได้ เอามาทำความจบสิ้นในกิเลสไม่ได้

ศีลสมาธิปัญญาเป็นธรรมที่เรียกว่าเป็นธรรมโอสถ เป็นยาขนานเอก เป็นคู่ปรับตลอดกาลกับกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นโดยเราของเรา  โดยเขาของเขา

เพราะนั้นถ้าเราไม่เข้าใจ หรือว่าละเลย  ผู้ปฏิบัติที่ละเลยในการทำความเข้าใจกับศีลสมาธิปัญญานี่ อย่างถูกแท้ถูกตรง ก็อย่างที่เราบอก มันจะกลายเป็นเดินไม่ดูตาม้าตาเรือ

แล้วจะโดนกิเลสมันรุกฆาต โฉบกินไปทีละตัวๆ จนหมดกระดานน่ะ แรกๆ ก็กินเบี้ยก็ไม่รู้สึกเท่าไหร่ ต่อไปก็กินเม็ด ก็ไม่รู้สึกเท่าไหร่ เดี๋ยวก็เริ่มมากินโคน เดี๋ยวก็เริ่มมากินม้า กินเรือ

สุดท้าย...วาระสุดท้ายก็กินขุนเลย จบ พ่ายแพ้มัน ...นี่ แรกๆ ก็ดูเหมือนไม่พ่ายแพ้ เพราะมันกินเบี้ย เบี้ยมีหลายตัวใช่มั้ย ...แล้วเอาอะไรไปกินมัน ไม่ไปกินมันหรอก มีแต่ไปใส่ค่าใส่คะแนนให้มัน

กิเลสในหัวจิตหัวใจนี่มันยอกย้อนจะตาย ร้อยเล่ห์พันเหลี่ยม ...มีแต่ศีลสมาธิปัญญาตัวแท้เท่านั้นน่ะ จึงจะพอเป็นคู่ต่อสู้กับมันได้

เพราะนั้นถ้าไม่ศึกษาให้ดี ที่ท่านเรียกว่า สุสสูสัง ลภะเต ปัญญัง ฟังให้ดีแล้วจะเกิดปัญญา ...การปฏิบัติมันจะกลายเป็นข้างๆ คูๆ ไป

คิดเองเออเอง ฟังเองตีความเอง อ่านเอง วิเคราะห์เอง แล้วก็เลือกเส้นทางปฏิบัติเอง ...สุดท้ายเป็นเบี้ยล่างกิเลสตลอด ไม่เคยพลิกเหนือมัน อยู่ต่ำใต้มัน

มันต้องทำความเข้าใจกับศีลสมาธิปัญญาให้ดีก่อน อย่างไรเรียกว่าศีล อย่างไรเรียกว่าสมาธิ อย่างไรเรียกว่าปัญญา อย่างไรเรียกว่าทำให้เกิดศีล อย่างไรเรียกว่าทำให้เกิดสมาธิ อย่างไรเรียกว่าทำให้เกิดปัญญา

อย่างไรเรียกว่าทั้งศีลสมาธิปัญญาเข้าไปประหัตประหารกิเลส หรือเข้าไประงับยับยั้งกิเลสด้วยธรรมบทไหนในสาม...ศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขานี้

ถ้าเข้าไม่ถึงศีลสมาธิปัญญาตัวแท้...ก็หมายความว่าเข้าไม่ถึงมรรค ... ถ้าเข้าไม่ถึงมรรค...ก็หมายความว่าจะเข้าไม่ถึงผล

ถ้ายังไม่รู้จักว่า ศีลอยู่ที่ไหน...อะไรคือศีล  สมาธิคืออะไร...อะไรคือสมาธิ  ปัญญาคืออะไร...อะไรคือปัญญา 

อย่างไรเรียกว่ามิจฉาสมาธิ อย่างไรเรียกว่ามิจฉาปัญญา อย่างไรเรียกว่ามิจฉาสติ อย่างไรเรียกว่ามิจฉาศีล ...และอย่างไรเรียกว่าสัมมาสติ สัมมาศีล สัมมาสมาธิ สัมมาปัญญา 

มันก็ต้องศึกษาด้วยการฟังจากผู้รู้ หรือสงฆ์ ...แต่ตอนนี้ มันมีผู้รู้ที่แต่งตั้งกันเองเยอะ แล้วพวกเราก็หูหนวกตาบอดอยู่แล้ว มันก็ยากที่จะคัดสรรว่าคำสอนไหนจริง คำสอนไหนจริงบางส่วน ไม่จริงหลายส่วน

เมื่อลงมือปฏิบัติ มันก็จะเกิดความเคว้งคว้าง เหมือนเรือที่มันไร้หางเสือ ...แล้วก็อยู่กลางทะเล ไม่มีหางเสือ มันจะไปทิศทางไหน มันจะไปได้ทุกทิศทุกทาง ตามที่ลมพัดมาทิศไหน

ตามที่คลื่นลมมาในทิศทางไหน มันก็จะไปตามคลื่นลม ตามลมพัด เนี่ย เคว้งคว้าง ...เขาว่าใช่ เขาว่าดี เขาว่าถูก...ก็ไป  เขาว่าไม่ใช่ เขาว่าไม่ดี เขาว่าไม่ถูก...ก็ไม่ไป

ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาๆ ยักหน้าถ่ายหลัง หมุนหันรีหันขวางอยู่อย่างนี้ ยิ่งไม่เข้าใจหลักการแห่งมรรค ไม่เข้าใจหลักการแห่งศีล ไม่เข้าใจหลักการแห่งสมาธิ ปัญญา

โดยเฉพาะอธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา...ซึ่งมันจะนำพาไปสู่ปรมัตถศีล ปรมัตถสมาธิ ปรมัตถปัญญา

ถ้าไม่เข้าที่อธิศีล จะเข้าไม่ถึงตัวปรมัตถศีล  ถ้าไม่เข้าถึงอธิศีล ก็ไม่เข้าถึงอธิธรรม ก็ไม่เข้าถึงปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นแก่น...แก่นธรรม

มันก็จะไปเคว้งคว้างอยู่กับบัญญัติธรรม สมมุติธรรม บัญญัติศีล สมมุติศีล บัญญัติธาตุ สมมุติธาตุ บัญญัติขันธ์ สมมุติขันธ์ บัญญัติขึ้นมาเป็นรูปเป็นนาม อดีตอนาคต เวลา สถานที่

มันก็เข้าไปหมุนเคว้งคว้างอยู่ในบัญญัติ โดยมีจิตเรานี่เป็นผู้ชี้นำ ...อย่าไปยกย่องจิตเรานะ อย่าไปนับถือจิตเรานะ ...ถ้ายกย่องจิตเรา นับถือจิตเรา ก็หมายความว่ายกย่องกิเลสให้เป็นใหญ่

ต้องยกย่องศีล ต้องยกย่องสมาธิ ต้องยกย่องปัญญา ต้องเทิดทูนเหนือเศียรเกล้าในศีลสมาธิปัญญาเลย 

ถ้านอกจากศีลสมาธิปัญญาแล้วไม่ฟัง ไม่เชื่อ ไม่ตาม ไม่เข้าข้าง ไม่ถือหาง ไม่เข้าฝั่งไม่เข้าฝ่าย ...จึงจะเรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรมน่ะเพื่อให้เข้าถึงธรรม 

ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมแต่ชื่อ แต่การปฏิบัตินี่เข้าหากิเลส เข้าหาบัญญัติ เข้าหาสมมุติ เข้าหาความได้ดีมีเป็นของเรา โดยเรา เพื่อเรา ...มันก็ไม่มีวันค้นพบธรรม มันก็ไม่มีวันพบเจอธรรมอันเป็นสัจธรรมหรือว่าธรรมแท้

คำว่าธรรมแท้ก็คือธรรมที่ไม่ให้ทุกข์ให้โทษแก่ใคร คือธรรมที่ไม่ได้เป็นทุกข์เป็นโทษให้ใคร คือธรรมที่ไม่ผูกติดกับอะไร และไม่มีอะไรมาผูกติดได้ อันนั้นน่ะธรรมแท้ อันนั้นน่ะสัจธรรม

การภาวนาทั้งหมดนี่เพื่อให้เข้าถึงธรรม เพื่อให้เข้าถึงสัจธรรม ...แล้วไม่ให้จิตนี่...จิตเรา จิตเขา จิตใครก็ตาม...หันเหออกจากธรรมนี้ได้

เมื่อมันหันเหออกจากธรรมปั๊บ มันจะไปในที่ที่มันอยากจะไป มันจะไปอยู่กับในที่ที่มันอยากจะอยู่ ...แต่ไอ้ที่มันอยากไปอยากอยู่นั่น มันไม่ใช่เป็นที่ตั้งของธรรม 

มันเป็นที่ตั้งแห่งประโยชน์เราสุขเรา ประโยชน์เขาสุขเขา ...ซึ่งไอ้ตัวที่มันพาไปตั้งอยู่ในที่นั้นน่ะ เรียกว่าภพ และชาติ 

เมื่อมันครบองค์ประกอบกายวาจาจิต ก็เรียกว่าชาติ ...เมื่อไม่ครบองค์ประกอบกายวาจา มีแต่จิต ก็เรียกว่าภพ ...จิตเราทุกคนน่ะจะไปในทิศทางนั้น โดยมีตัณหา วิภวตัณหานี่เป็นตัวผลักดัน

แต่การเข้าหาศีลสมาธิปัญญานี่ ไม่ใช่ตัณหาอุปาทาน ภวตัณหา วิภวตัณหา ผลักดัน ...แต่เป็นตัวสติกับสัมปชัญญะเป็นตัวน้อมนำ

เพื่อให้จิตนี่...มันมา มันอยู่ในทางที่ถูกและตรงต่อธรรม ให้เกิดความมุ่งตรงต่อธรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติไม่รู้จักความหมายของธรรม ไม่รู้จักคุณลักษณะของธรรม ไม่รู้จักหน้าตาท่าทางของธรรม ไม่รู้จักสถานที่ตั้งของธรรม ไม่รู้จักเวลาที่ตั้งของธรรม

การปฏิบัติที่จะมุ่งตรงต่อธรรมก็ผิด มันจะเบี่ยงเบนออกไป ตามเราว่า ตามเขาว่า ตามเราบอก ตามเขาบอก ตามจิตเราว่า ตามจิตเขาบอก ...เรียกว่าตามรอยกิเลส ไม่ได้ตามรอยธรรม

เหมือนล้อเกวียนตามรอยเท้าโค แล้วโคนี่มันมีอวิชชาตัณหาเป็นผู้ที่ถือบังเหียน แล้วมันจะเอาเทียมเกวียน เกวียนนี่ไปไหน ...ก็ไปในสามโลกธาตุ เกิดตายๆ ในสามโลกธาตุ

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมมุ่งเข้าหาธรรมโดยมีสตินี่กุมบังเหียน น้อมนำจิตให้เข้าหาธรรม อยู่กับธรรม แล้วให้เข้าไปสำเหนียกเรียนรู้ธรรม เกิดการพิจารณาธาตุธรรมตามจริง


จนกว่าจะเกิดความถ่องแท้ในธรรม ประจักษ์แจ้งในธรรม ...นั่นแหละจึงพอจะเล็ดรอดออกจากบ่วงสังขาร บ่วงมาร บ่วงกิเลส...ได้บ้าง


(ต่อช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น