วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คำสอน 6 พ.ค. 2560 (12)


พระอาจารย์
6 พฤษภาคม 2560
(ช่วง 12)


(หมายเหตุ  :  ต่อจาก ช่วง 11

พระอาจารย์ –  นี่จึงเรียกว่าญาณทัสสนะ เรียกว่าปัญญาญาณ ...ไม่ใช่จินตามยปัญญา 

เพราะนั้นจินตามยปัญญามันเข้าใจ มันเชื่อ แต่โดยภาษา ...แต่โดยจิตลึกๆ จริงๆ มันไม่เชื่อ ไม่ยอม...มันไม่ยอม  กูแกล้งเชื่อไปอย่างงั้นแหละ มึงอย่าเผลอแล้วกัน เดี๋ยวกูก็ยึด 

มันจะเป็นอย่างนั้นนะจินตา ...เหมือนตีงูให้สลบ แล้วก็นึกว่ามันตาย  เออ เอามานอนกอดมันเถอะ เผลอขึ้นมา มันตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่มันก็ฉกเอา ...ไว้ใจยังไม่ได้นะ

แต่การที่สมาธิปัญญา ภาวนามยปัญญาหรือญาณทัสสนะ จนถึงวิมุติทัสสนะ จนถึงยถาภูตทัสสนะญาณนี่ มันเป็นปัญญาที่ลบล้าง ทำให้หมดเนื้อหมดตัว หมดสิ้น สูญสิ้นซึ่งความเป็นเราของเรา

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ต้องลอง ต้องทำ นะ ลองทิ้งความคิด ลองไม่ใช้ความคิดดู ...ให้เชื่อสมาธิปัญญา รู้เงียบๆ รู้เฉยๆ แต่รู้ด้วยความใคร่ครวญและพิจารณา

อันนี้ก็พูดยาก มันต้องไปทำ แล้วจะรู้เอง...รู้ยังไงที่ว่ารู้อย่างใคร่ครวญ รู้ยังไงที่เรียกว่าแยบคายโดยไม่ต้องคิดมาก ...มองให้หลายมุมมอง ทุกมุมมอง พลิกไปพลิกมาๆๆ

ตั้งโจทก์ไว้ มันเป็นเราตรงไหน ตั้งโจทก์นี้ไว้...แล้วก็มอง ค้นหาความเป็นเรา  มองแล้วก็ตั้งไว้...มันเป็นเราตรงไหนวะ มองหา มองหาความเป็นเรา ...ตั้งอย่างนี้

ถ้ามองหาความเป็นเรายังไม่ชัด มองหาความเป็นชายหญิง ...เราเชื่อว่าเราเป็นผู้ชายใช่มั้ย  มองหาความเป็นผู้ชายในความรู้สึกนั้น ลองหาดู มันมีเพศมั้ย  มันบอกเพศมั้ย มันมีโดยสัญลักษณ์มั้ยว่าเป็นเพศอะไร 

เอ้า ถ้ามองแล้วยังไม่หนำใจ มองหาชื่อ ...เราว่าเราชื่อนี้ใช่มั้ย กายเราชื่อนี้ใช่มั้ย มองหาซิว่าในความรู้สึกนั้นมีชื่อมั้ย นี่ มองหาค้นคว้าอยู่อย่างนี้ มุมมอง สร้างมุมมองแล้วก็ค้นหา ขุดค้นความเป็นจริงลงไป

จิตมันจะค่อยๆ พิสูจน์ทราบธรรมอย่างนี้...ด้วยปัจจัตตัง ...เพราะมันเห็นอะไรที่มันไม่รู้จะพูดว่ายังไงน่ะ 

มันเคยว่ามี เคยว่าเป็นอย่างนั้น เคยว่าใช่อย่างนั้น...พอดูเข้าจริงๆ มันไม่มี มันไม่ใช่อย่างนั้นน่ะ ...มันจะเชื่ออะไรล่ะ มันจะเชื่อตามที่มันเชื่อ หรือว่ามันจะเชื่อตามที่มันเห็นอยู่กับตามันน่ะ

เพราะนั้นไอ้ตัวศีลสมาธิปัญญา มันเป็นเครื่องมือนำทางให้จิตมาพิสูจน์ธรรมน่ะ

อย่ามากล่าวอ้างโง่ๆ งมๆ งายๆ ถือเราแบบทื่อๆ ยึดเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ...ก็ดูซะบ้างสิ ไม่ดูตาม้าตาเรือน่ะ แล้วก็บอกว่าเป็นเราก็เป็นเราอย่างนี้ เรียกว่าทึกทักเอาเอง งมงาย

ศีลสมาธิปัญญาก็ไปบีบไปคั้น ...มึงอย่าเชื่อ จะออกจากความเชื่อต้องมาดูของจริงสิ ว่ามันว่าเป็นเราใช่มั้ย ดูเลย มันเป็นเราตรงไหน

เอ้า มันว่าเป็นสวยงาม ดูเลย มันสวยงามตรงไหน มันแสดงอย่างสวยงามรึเปล่า มันแสดงอย่างโดยสัญลักษณ์ว่าเป็นชายเป็นหญิงรึเปล่า

ดูแล้วดูอีกๆ ...ก็ไม่เห็นมันแสดงสัญลักษณ์เครื่องหมายบ่งบอก คือความเป็นอัตตาใดอัตตาหนึ่งไม่ปรากฏเลยในนั้น ...มีแต่ความรู้สึกที่รวมกลุ่มจับกลุ่มกันอย่างเงียบๆ ว่างๆ 

มันเป็นอย่างนั้นจริงมั้ย นี่ ดูแล้วดูอีก เห็นแล้วเห็นอีก รู้แล้วรู้อีก แจ้งแล้วแจ้งอีก ...นี่คือความรู้แจ้งในธรรม ว่าในธรรมนี้ไม่มีอะไรเป็นเราของเราเลยจริงๆ เนี่ย แจ้ง

แจ้งครั้งเดียวไม่พอ สองครั้งไม่พอ ซ้ำลงไปอยู่อย่างนั้นน่ะ ...กิเลสมันเหนียวหน้าด้านหน้าทนดีนักนี่...ศีลสมาธิปัญญาก็หน้าด้านหน้าทนรู้เห็นลงไปซ้ำอยู่อย่างนั้นน่ะ

ดูสิมันจะทนทานต่อโง่ซ้ำโง่ซาก โง่ดักโง่ดานไปถึงแค่ไหน สุดท้ายมันจะค่อยๆ ยอมปล่อย ...ปล่อยก็จะรู้เองว่าปล่อย ไม่ใช่ธุระของเราก็จะรู้เองว่าไม่ใช่ธุระของเรา 

มันวางธาตุก็คือรู้ว่าวางธาตุ ...จะรู้เองอีกน่ะ ...ก็ไม่รู้จะบอกยังไง ว่ามันวางยังไง มันวางของมันเอง แล้วก็รู้เองว่ามันวาง  มันยังไม่วาง ก็รู้เองว่ายังไม่วาง เข้าใจมั้ย

ตอนนี้ยังไม่วาง มันก็รู้เอง ใครก็บอกไม่ได้ว่ามันยังไม่วางยังไงวะ ...แต่ตัวเจ้าของน่ะมันโกหกตัวเองไม่ได้ว่ายังยึดอยู่ ยังถือว่าเป็นเราอยู่ ปากจะพูดว่าไม่เป็นเรา แต่ยังยึดอยู่ มันโกหกไม่ได้

บทมันจะวาง...วางก็โกหกไม่ได้ว่ามันวาง ...นี่ ตรงไปตรงมาที่สุดในการปฏิบัติธรรม...ตามนั้นๆ เหตุเท่าไหร่ผลเท่านั้น ตามนั้นจริงๆ ตามอิทัปปัจจยาเลย ไม่มีคำว่าลัดหน้าลัดหลังเลย 

ถ้าลัดหน้าลัดหลังนี่กิเลสนำหมดน่ะ โชคส่ง วาสนาส่ง ราชรถเกยนี่ กิเลสทั้งนั้น


โยม –  ก็บอกว่าดูจิตแล้วไม่มีทางทันแล้วก็จะหลง จำได้รึเปล่าที่บอกหมอเรื่องตารางน่ะ ที่บอกว่าให้ขึ้นมาเชียงใหม่ แล้วหมอบอกว่า “เดี๋ยวดูตารางก่อน จะต้องนั่นต้องนี่ ...คือเวลาจิตมีข้ออ้างหรืออะไรอย่างนี้ ไม่รู้ทัน

พระอาจารย์ –  จิตมันจะเป็นตัวปิดมรรคปิดผล ปิดบังธาตุธรรมอยู่เสมอ ปิดช่องทางที่จะเข้าหาธาตุธรรมตรงนั้นเดี๋ยวนั้นเสมอเลย

มันเป็นอะไรที่มันเกิดมาตั้งอยู่อาศัยได้ ดำรงคงอยู่ในตัวมันได้ เพราะมันคอยปิดบังธรรมอยู่เสมอ ...ถ้าลองที่มันไม่ปิดบังธรรมไว้สิ ตัวมันก็อยู่ไม่ได้


โยม –  ทีนี้ก็เลยเหมือนตัวญาณที่เห็นนี่ก็มี แต่ก็อีกตัวจินตามยปัญญาก็ยังมีน้ำหนักอยู่ตรงนั้น

พระอาจารย์ –  มันยังไม่เห็น ยังไม่เชื่อ ...ก็ค่อยปรับไป เปลี่ยนไป ค่อยๆ ละความเชื่อ ละความเห็นที่ผิดๆ ไปทีละนิดทีละหน่อย ลิดรอนแขนขาลงไปเรื่อยๆ

มันจะไปเอารวดเดียวๆ ไม่ได้หรอก ...ค่อยๆ ลิดรอนไป ทีละนิดๆ โยงใยที่มันเคยเชื่อเคยเห็นว่าอย่างนั้นใช่ อย่างนี้ถูก ตามเราว่า ตามเขาบอกนี่ ค่อยๆ ออกจากความเห็นนั้นทีละนิดทีละน้อย

แล้วเอาธรรมนี้เป็นที่หมายที่ตั้ง ปฏิบัติลงไปแบบโง่ๆ ...อย่าคิดมากๆ ถ้าคิดมากเสียงานหมด 

กลัวจะไม่ได้ไม่ถึง กลัวจะผิดทาง กลัวจะตามคนอื่นไม่ทัน กลัวจะเสียประโยชน์ เสียเวลาเปล่า ...นี่ จิตมันจะกล่าวอ้างซ้ำเหมือนแผ่นเสียงตกร่องอยู่อย่างนี้ แล้วมันก็พยายามดั้นด้นค้นหาทุกวิธีการเลยทีนี้


โยม –  สู่รู้น่ะ สู่รู้

พระอาจารย์ –  ตำรากี่เล่ม เว็บกี่เว็บ มันไปหาหมดน่ะ เพื่อให้มันสะใจเราน่ะ เพื่อให้มันถูกใจเราน่ะ ...เนี่ย เขาเรียกว่า...เข้าใจคำว่าศาสดาหัวแหลมมั้ยล่ะ

ถ้าเราไม่ลงให้ เราไม่เชื่อ เราไม่ทำตาม...มันจะว่าอย่างงั้นน่ะ มันจะว่าแต่อย่างงั้น ...แล้วเมื่อไหร่มันจะเชื่อได้ล่ะ กี่ชาติกี่ภพมันก็อาศัยคำล่อหลอกลวงเดิมๆ อยู่อย่างนี้

มันจึงค้างภพค้างชาติกันมาทุกภพทุกชาติ...ก็อย่างเงี้ย ...กี่ชาติกี่ภพก็เข้าไม่ถึงธรรม กี่ชาติกี่ภพก็ไม่กล้าพิจารณาธรรมอย่างเงียบๆ โง่ๆ เฉยๆ ตรงๆ มัวแต่หาวิธีการนั้นวิธีการนี้

เนี่ย ที่เรียกว่าวิจิกิจฉา...เป็นสังโยชน์ตัวหนึ่งน่ะ  แล้วมันก็มาโอบอุ้มความเป็นเราได้เราเสียอยู่อย่างนั้น ...กลัวใช่มั้ย กลัวเราเสีย  กลัวใช่มั้ย กลัวเราไม่ถึง ...เนี่ย โอบอุ้มมั้ยล่ะ


โยม – (หัวเราะ) ขึ้นหิ้งเลยครับ

พระอาจารย์ –  เออ บูชาเลยล่ะ กลัวเราจะไม่ได้ กลัวเราจะไม่ดี กลัวเราจะไม่เป็น กลัวเราจะตกนรก กลัวเราจะหมกไหม้ กลัวเราจะอย่างนู้นอย่างนี้ มันบ้า

เนี่ย มันทะนุถนอมกิเลส ทะนุถนอมเราหรือเปล่า ก็เพราะโดยวิจิกิจฉาธรรมนี่แหละ ...สังโยชน์สามนี่เป็นธรรมที่มันเอื้อกัน หนุนเนื่องกันอยู่

ตั้งแต่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันเกื้อหนุนกันอยู่ ...ถ้ามีตัวหนึ่ง สองตัวมา ครบ ...พอละตัวหนึ่ง สองตัวลด มันจะเป็นธรรมที่เนื่องกัน เป็นพ่วง เป็นลูกพ่วง

พูดไว้ก่อน เดี๋ยวจะค่อยทำไปแล้วเข้าใจเอง ทำไปเข้าใจไปว่าสิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราบอกนี่ ไม่ใช่คำโกหก ...แต่มันต้องพิสูจน์ทราบด้วยการปฏิบัติเท่านั้น

อย่ามาคาแค่ความคิดแล้วค้นอยู่ในความคิดนั้น ...เอาไปลอง เอาไปปฏิบัติดู แล้วมันจะค่อยๆ ลำดับธรรม เรียบเรียงธรรมได้อย่างตามลำดับลำดาของธรรม

เอ้า พอแล้ว ไป พอเข้าใจนะ ...มันต้องอาศัยการปฏิบัติมากๆ ความช่ำชองในการปฏิบัตินั่นแหละ จึงจะแก้ปรัศนีในหัวจิตหัวใจเราได้


โยม –  มันก็มีตัวที่มันต้องการเงียบ ต้องการนั่นหรืออะไรต่ออะไร เสร็จแล้วก็สู้แรงสู่รู้คิดไม่ได้ ก็ต้องเจออะไรแรงๆ นิดนึง

พระอาจารย์ –  พึ่งพาจิตเรานี่ให้น้อยที่สุดเลย อะไรที่ออกมาจากจิตเรานี่ พึ่งมันให้น้อยที่สุดเลย จนที่เรียกว่าไม่พึ่งมันเลย

แล้วก็ให้จิตนี่อาศัยเป็นแค่ดวงจิตผู้รู้ อยู่ที่ดวงจิตผู้รู้ ...แล้วก็เอาดวงจิตผู้รู้นี่ให้มันแยบคาย หนึ่งแยบคายด้วยสมาธิกับเฉยๆ แยบคายด้วยปัญญาก็คือไตร่ตรองธรรม

อาศัยดวงจิตผู้รู้นี่เป็นเกณฑ์ผู้คิดผู้หานี่ ฆ่ามันทิ้งได้แล้ว


........................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น