วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คำสอน 6 พ.ค. 2560 (11)


พระอาจารย์
6 พฤษภาคม 2560
(ช่วง 11)


(หมายเหตุ  :  ต่อจาก ช่วง 10

พระอาจารย์ –  แต่บอกแล้วว่า ตามเหตุปัจจัย นะ


โยม –  ค่ะ


พระอาจารย์ –  พูดไว้ ...ต้องระวัง ถ้าจะทำต้องระวัง ผลที่จะได้กลับคืนมา ...เหล่านี้มันล้วนแต่เป็นความรุงรัง เรียกว่าเป็นเครื่องถ่วง ห่วง ถ่วงรั้ง ให้เสียเวลาในการค้นคว้าความเป็นจริงในตน

มันกลับไปเพื่อ Green Earth น่ะ (โยมหัวเราะ) ...โลกสวย คนรอบข้างดี

โยม –  ไม่มีอะไรทำค่ะ ตอนนี้ก็คือที่มากราบครูบาอาจารย์เพราะว่า โอนลี่วันแล้วค่ะ


พระอาจารย์ –  ทำให้ดี ทำให้ถูก ทำให้ตรง ...ข้างในดี ข้างในถูก ข้างในตรง...ข้างนอกก็จะถูกดีตรง ...ถ้าข้างในไม่ถูกไม่ตรง เป็นคดเป็นงอ...ข้างนอกก็จะงอตั้งแต่กายวาจาเป็นต้นไป

ไม่รู้ล่ะ ตัวเองนั่นแหละจะพิสูจน์ธรรมในตัวเองได้ ...ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอ อย่าให้กิเลสมันนำพา อย่าให้ออกหน้าออกตา

โยม –  ค่ะ


พระอาจารย์ –  อือ ไป

โยม –  กราบลาค่ะ


พระอาจารย์ –  สำนักเรานี่ ยังมีพระเถรเณรชีแค่หนึ่งองค์เอง คือเรา...รับคนเดียวก็คือเรา

โยม –  คาดว่าสำนักโยมก็คงมีโยมคนเดียว หนึ่งเดียวเหมือนกัน


พระอาจารย์ –  เพราะไว้ใจใครไม่ได้ ไว้ใจแต่ตัวเองนี่ รับแต่สานุศิษย์คือเรา

โยม – (หัวเราะ) ตัวเองยังไว้ใจตัวเองไม่ค่อยได้เลยค่ะ


พระอาจารย์ –  (ถามโยมอีกคน) เอ้า พอเข้าใจมั้ยหมอ

โยม –  ครับ


โยม (อีกคน)  หมอเขามีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องปัญญาสู้กันน่ะค่ะ หมายถึงว่าจินตามยปัญญาเขาเยอะ

พระอาจารย์ –  ให้มันเงียบไว้ก่อน ...ปัญญาตัวแท้คือภาวนามยปัญญา เกิดจากการรู้และเห็น เรียกว่าญาณ ...ญาณแปลว่ารู้ ทัสสนะแปลว่าเห็น ตัวรู้ตัวเห็นนั่นแหละ แต่ว่ารู้เห็นอย่างแยบคาย

พอเข้าใจมั้ย แบบที่เราเกริ่นนำ นำพาจิตโยมไปน่ะ ...ตั้งหัวข้อขึ้นมาแค่นี้เอง ปรัศนีขึ้นมา ว่ามันเป็นเราตรงไหน แล้วก็ไล่ดูไป จับขึ้นมา เข้าใจมั้ย

พิศดู ค้นดู ตามหัวข้อที่ตั้งขึ้น ถ้าไม่ชัดในความเป็นเรา มองไม่เห็น ...ก็ความเป็นเพศ ตั้งขึ้นมาเป็นชายหรือหญิง แล้วก็มอง...เออ ไม่เห็น

เข้าใจมั้ย อย่างนี้ต่างหากเรียกว่าภาวนามยปัญญา ...ไม่ใช่โดยความคิดโดยตรงนะ ไม่ใช่จะตั้งหน้าตั้งตาคิดนะ


โยม –  ไม่กล้าทิ้งความคิดน่ะค่ะ แบบว่า ...

พระอาจารย์ –  อย่ากลัวโง่ๆ อย่าคิดว่าเราเป็นปัญญาชน เรามี เราตั้งเนื้อตั้งตัว ตั้งหลักตั้งฐานได้เพราะว่าเราคิดเราจำ แล้วจะมาใช้ความคิด...ปัญญาในทางพระศาสนานี้ไม่ใช่ความคิดถ่ายเดียวนะ

ตัวคิดนี่ มันเกิดขึ้นตอนที่กำลังฟังเรา เข้าใจมั้ย ...ฟัง แล้วกำลังคิดตามธรรม เกิดการพิจารณาธรรมตาม นี่ อยู่ในขั้นของจินตาและสุตตะ เพื่อให้เกิดความตรงต่อธรรม

เพราะนั้นต้องกล้าที่จะละความคิด แล้วก็พิจารณาตรงๆ ใช้ความสังเกต ถี่ถ้วน ละเอียดลออ ...ใจเย็นๆ อย่าเร่งรัด อย่ารีบร้อนๆ ปัญญาเป็นของละเอียด เป็นของประณีต สุกเอาเผากินไม่ได้

ต้องค่อยๆ ...เข้าใจคำว่าละเลียดธรรมมั้ย ละเลียดไป รู้เห็นละเลียดๆ ไป ...ใจเย็นๆ อย่ารุ่มร้อน เอ้า เอาเลย ให้มันแล้วเลิกไปเลย อย่างนี้ มันเห่อเหิมเกินไปๆ

เข้าใจมั้ย การที่ผลไม้จะกินได้ต้องสุกงอมนะ จะไปบ่ม จะไปบีบ จะไปคั้นมัน เอาตรงนั้นเดี๋ยวนั้นไม่ได้
เขาเรียกว่าการประกอบเหตุประกอบธรรม ไม่สมควรกัน การประพฤติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม

มันต้องเป็นไปอย่างกลมกล่อม ศีลพร้อมสมาธิพร้อมศีลพร้อม...สมาธิไม่พร้อมก็ไม่ได้ ศีลพร้อมสมาธิพร้อมปัญญาพร้อมจึงจะได้

ศีลพร้อมสมาธิพร้อม...ปัญญาไม่พร้อมก็ไม่ได้ มันจะต้องเป็นสมังคี สมดุล ตั้งแต่สติสมาธิปัญญา มันเสมอกัน กลมกล่อมกัน

อันนี้มันสอนบอกกันไม่ได้เลย มันเป็นประสบการณ์ในการปฏิบัติ แล้วมันจะอ๋อ ...ไอ้ที่เคยเร่งรัดรีบร้อนเนี่ย เสียของหมดเลย


โยม –  แล้วก็ความเข้าใจเรื่องสมาธิน่ะค่ะ หมายถึงว่าเวลานั่ง ตั้งใจ ก็เลยมีปัญหาเรื่องลมหายใจหรืออะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ รู้เฉยๆ อย่าไปหวังผลเอาผลอะไร ....ให้จิตมันอยู่กับธาตุธรรมนั้นไว้ ไม่ลืมไม่หาย ขณะนั้นน่ะ แข็งแน่นตึง...รู้ว่าแข็ง ตึง  ลมเข้ารู้ ลมออกรู้

ขณะนั้นน่ะจิตตั้งมั่นอยู่กับธรรมแล้ว เป็นขณะหนึ่ง เอาเป็นขณะๆ ไป เอาเป็นปัจจุบันไป ให้มันรู้อยู่เห็นอยู่กับธรรมเป็นปัจจุบันๆ ไป

อย่าลืม อย่าหาย อย่าให้จิตไปหานั่นหานี่ คาดนั่นคาดนี่ นั่นแปลว่าจิตน่ะออกนอกธรรมแล้ว ...ถ้าจิตยังอยู่อย่างนั้นน่ะ จะไม่เป็นสมาธิเลย

จะต้องทิ้งจิตพวกนี้หมด แล้วให้เหลือจิตเดียว...คือจิตรู้เห็นกับธาตุ ...จิตรู้เห็นกับลมก็ได้ถ้าเราถนัดลม

หรือถ้าจะกลัวว่าลมมันเป็นของบางเบา ถ้าละเอียดเดี๋ยวก็ลืมเดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็ขาด เอาลมกอปรกับธาตุดิน เป็นกองก้อน น้ำหนัก ที่กดทับลงมาทั้งตัว รู้สึกได้มั้ย ตอนนี้รู้สึกจับต้องได้มั้ยล่ะ


โยม –  หมายถึงลมหรือว่าดินครับ

พระอาจารย์ –  ทั้งลมทั้งดินคู่กันก็ได้ ...ถ้าเอาลมอย่างเดียว เดี๋ยวมันก็กลืนกิน เดี๋ยวมันไหลหลงหายไปโดยโมหะ

ลมนี่พอกำหนดไปเรื่อยๆ จิตสงบไปเรื่อยๆ นี่ลมจะละเอียด พอลมละเอียดปุ๊บ ลมกับอารมณ์นี่ จะกลายเป็นอย่างเดียวกัน เข้าใจมั้ย แล้วก็วุ๊บๆ ไปไหนแล้วก็ไม่รู้


โยม –  เป็นประจำครับ

พระอาจารย์ –  เนี่ย ถึงบอกว่าเราไม่แนะนำเรื่องให้กำหนดลมเลย เพราะมันจะเข้าไปตีกินกับจิตโดยง่าย เพราะว่าเวลากำหนดไปเรื่อยๆ จิตละเอียด ลมจะละเอียด

พอลมละเอียดปุ๊บ ความเป็นธาตุกับความเป็นนามนี่ มันจะกลายเป็นกลืนกันเลย ...โมหะมันจะถือช่วงโอกาสนั้นเข้ามาสอดประสานระหว่างธาตุกับขันธ์ นั่น นามกับมหาภูตรูปน่ะกลายเป็นเนื้อเดียวกันเลย 

เสร็จแล้วมันก็คาบไปกินเลย คือกายจะหาย ลมจะหายวูบไปเลยแปลว่ากิเลสตีกินแล้ว ...ถึงแม้มันจะสงบ ถึงแม้มันจะสบาย ก็ถูกกิเลสหลอกใช้แล้ว เข้าไปเสพข้องในอารมณ์ 

เพราะนั้นตัวสมาธินี่ต้องเป็นธรรมคู่...กายมี...รู้มี  ธาตุมี...รู้เห็นมี ...อย่างนี้สมาธิ ต้องเป็นคู่น่ะ

จะอยู่ ใจจะรู้โดดๆ ว่าง เห็นโดดๆ ลอยๆ ไม่ได้นะ ...อย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ เป็นฌาน เป็นโมหะสมาธิหมด ...อย่าไปอิ่มเอมเปรมปรีด์กับความหมายความเชื่อว่าฌานนะ ตัวหลงเลยน่ะ โมหะเลยนั่น


โยม –  ก็อย่างน้องเขายังดำเนินในสมาธิธรรมชาติยืนเดินนั่งนอนอะไรอย่างนี้ พอรู้พอแยกอะไรได้บ้าง แต่โดยที่ปัญญาในเรื่องความคิดน่ะค่ะ ที่ว่าสมาธิจะต้องเป็นแบบอย่างนั้น ตอนนี้สองอย่างก็เลยตีกัน แล้วก็จิตยังไม่ค่อยยอมลงกับสมาธิธรรมชาติ

พระอาจารย์ –  สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ใช่มั้ย สมาธิแปลว่าอะไร...จิตตั้งมั่น ระงับความปรุงแต่งใช่มั้ย


โยม –  ครับ

พระอาจารย์ –  เอ้า แล้วปัญญามันจะมาจากความคิดได้ยังไงล่ะ ...ก็ปัญญามันมาจากสมาธิ สมาธิก็คือระงับความปรุงแต่งในจิตน่ะ เข้าใจมั้ย แล้วมันจะบอกว่าปัญญามาจากสมาธิได้ยังไง

ถ้ามาจากสมาธิก็ต้องมาจากจิตไม่ปรุงไม่แต่งสิ เข้าใจมั้ย เพราะนั้นปัญญาที่มาจากสมาธิเรียกว่าภาวนามยปัญญานี่ไม่ใช่ปัญญาที่มาจากความคิดเลย


โยม –  ที่ว่าไม่เข้าใจก็คือ คำว่าเข้าใจของเขาหมายถึงว่าเข้าใจโดยหัวสมอง จะไม่ยอมรับไอ้แบบโง่น่ะค่ะ ที่เห็นวึบเดียวแวบเดียวเงียบๆ นั่นน่ะ

พระอาจารย์ –  ปัจจัตตังๆ ไม่ลองไม่รู้ ...ไม่กล้าลอง ไม่กล้าลิ้มลอง ไม่กล้าทำ ไม่กล้าเผชิญหน้าต่อธรรม ไม่กล้าเผชิญหน้าต่อศีล ...มันก็ไม่รู้เห็นได้ด้วยตัวเอง

อย่าไปตั้งแง่ตั้งงอนกับมัน อย่าไปตั้งมุมตั้งองศาโดยความคิดเรา โดยความเห็นเรา อย่าไปเชื่อในน้ำคำมัน ...ตอนนี้กำลังถูกกิเลสปั่นหัวนะเนี่ย เดี๋ยวมันก็อ้างนั่นอ้างนี่ขึ้นมาประจำน่ะ


โยม –  ไม่กล้าอยู่กับไอ้เงียบๆ น่ะ ไม่ใช่ว่าไม่เคยเห็นไม่เคยแยก แต่

พระอาจารย์ –  กลัวโง่ กลัวไม่รู้อะไร กลัวจะโง่กว่าคนอื่นเขา กลัวตามคนอื่นเขาไม่ทัน ...กิเลสมันจะเล่าอ้างอย่างนี้อยู่เสมอ จนจิตเราต้องออกมาทำงาน ซึ่งมันเป็นทางตรงข้ามกับสมาธิปัญญาเลย 

สมาธิปัญญาคือจิตเราต้องหยุด มาอยู่ที่รู้...เป็นดวงจิตผู้รู้ผู้เห็น ...แล้วอาศัยดวงจิตผู้รู้ผู้เห็นนี่เข้าไปส่องธาตุส่องธรรม ...ส่อง ...เข้าใจคำว่าส่องมั้ย


โยม –  เหมือนซูมเข้าไปใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  อือ เหมือนเอาแว่นขยายน่ะใส่เข้าไป ...จากที่มันมืดๆ มัวๆ ขยายเข้าไป จะได้เห็นเนื้อแท้เนื้อธรรมของมัน ...ตัวนี้ที่เรียกว่าญาณและทัสสนะ


(ต่อช่วง 12)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น